กลายเป็นประเด็นร้อนระอุในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรมออกมากำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 ต.ค.2566
จากเดิมราคา “น้ำตาลทรายขาว” อยู่ที่กิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 23 บาทต่อกิโลกรัม และ “น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์”จากเดิม 20 ต่อกิโลกรัมเป็น 24 บาทต่อกิโลกรัมมีผลตั้งแต่ 28 ต.ค.2566เป็นต้นไป
อ่านข่าว : เส้นทางค้า “ตลาดน้ำตาล” ราคาไทย-ไปต่างประเทศ
"น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์" กิโลกรัมละ 24 บาท มีผลตั้งแต่ 28 ต.ค.2566 เป็นต้นไป
ต่อมากระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงปลายน้ำที่กำกับดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคนายภูมิธรรม เวชชชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานประธานกกร.ได้เรียกประชุมคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)เร่งด่วนในช่วงบ่ายของวันที่30 ต.ค.2566 หลังการประชุมกกร.ได้มีมติประกาศให้สินค้า “น้ำตาลทราย”เป็นสินค้าควบคุม และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบในวันที่31 ต.ค.2566ทันที ซึ่งครม.มีมติชอบให้ “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุม และลงนามประกาศในราชกิจจาฯให้ “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าควบคุมมีผลทันที ถือว่าเป็นการเบรกประกาศของ สอน. กระทรวงอุตสาหกรรม
สอน.อ้าง 2 เหตุผลเสนอปรับราคา
สอน.ระบุว่า การปรับราคาน้ำตาล 4 บาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 เงินจำนวน 2 บาทให้กับกองทุนน้ำตาล 2 บาทเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นปัญหาฝุ่นP.M2.5 และอีก 2 บาท เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่แบกรับปัญหาโดยเฉพาะต้นทุนการผลิต
หลังการประกาศคุมราคาน้ำตาลของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลให้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศถึงกับออกมาประกาศขู่ปิดโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศในวันที่ 5 พ.ย.นี้ หลังถูกแทรกแซงการขึ้นราคาอ้อยหน้าโรงงาน ชาวไร่อ้อยมองว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท เป็นมติความเห็นชอบของ กอน. ที่พิจารณาตามสถานการณ์น้ำตาลโลกในปัจจุบันที่มีราคาสูงกว่าประเทศไทยจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ไม่ควรมาแทรกแซงกลไกราคาตลาดโลก
ล่าสุดวันนี้( 2 พ.ย.2566) องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกและรมว.พาณิชย์ เพื่อฟังคำชี้แจงว่าเหตุใดกระทรวงพาณิชย์ถึงต้องเข้ามาแทรกแซงราคาน้ำตาล ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดแบบในอดีต
อ่านข่าว : คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม
"สมาคมไร่อ้อย" ยอมถอยเลิกโรงงาน
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต7 ระบุว่า จากการหารือในวันนี้ สมาคมชาวไร่อ้อยเห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาระยะยาว และระหว่างนี้จะไม่มีการปิดโรงงานหรือระงับการขนน้ำตาลออกจากโรงงาน
และยืนยันว่า ไทยมีน้ำตาลเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอ จากผู้ประกอบการกว่า 50 โรงงาน เนื่องจากมีการควบคุมการเบิกจ่ายน้ำตาลอย่างเข้มงวด และขณะนี้ยังไม่พบการลักลอบส่งออกน้ำตาล
หลังจากนี้จะไปแจ้งกับชาวไร่อ้อยว่าจะไม่มีการปิดโรงงาน และไทยมีน้ำตาลเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอ จากผู้ประกอบการกว่า 50 โรงงาน มีการควบคุมการเบิกจ่ายน้ำตาลอย่างเข้มงวด และขณะนี้ยังไม่พบการลักลอบส่งออกน้ำตาล
ตั้ง"ยรรยง"คณะทำงานฯศึกษาผลกระทบ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยโดยถึงเหตุผลการคุมราคาน้ำตาล ขณะเดียวกันก็รับฟังปัญหาและความเดือดร้อนชาวไร่อ้อย รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งประชาชน ผู้ผลิต และชาวไร่อ้อย
อ่านข่าว : "ปลาตะเพียน" ปลาพื้นเมืองคู่ครัวไทย "สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ" โปรดเสวย ในอดีตใครกินต้องโทษปรับ
นายภูมิธรรม เวชชชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดย มีนายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรัฐมนตรีเป็นประธาน อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขา ตัวแทนชาวไร่อ้อยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล หรือ สอน. โดยหาข้อสรุปทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน กำหนดกรอบระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือก่อนเปิดหีบอ้อยฤดูกาลใหม่
การประกาศของกกร.ที่ให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมยังคงดำเนินต่อไป แต่ยืนยันหากได้ข้อสรุปและทางออกที่เหมาะสมก็พร้อมจะยกเลิกได้
กางต้นทุนการผลิตเกษตรกรไร่อ้อย
สำหรับต้นทุนการผลิตอ้อยของชาวไร่ ทาง สอน.ระบุว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยขณะนี้อยู่ที่ 1,400 บาทต่อตันอ้อย หากคิดเป็นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท สำหรับผลผลิตอ้อยปี2566/67 คาดว่าจะลดลงเหลือปริมาณ 75 ล้านตันต้นอ้อย(-+) เนื่องจากภัยแล้ง ซึ่งหากแปลงเป็นน้ำตาลทรายจะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคในประเทศ 2.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออก
นายมนตรี เลาหศักด์ประสิทธิ์ เลขาธิการสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต6 กล่าวว่า ตนเองเป็นชาวไร่อ้อยด้วยที่ผ่านมาการขายอ้อย ราคาอ้อยจะเป็นไปตามราคาตลาดโลก ซึ่งการมาแทรกแซงของหน่วยงานรัฐทำให้ชาวไร่อ้อยไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งหลังจากการหารือกับกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งคณะทำงานฯดูแลความสมดุลของราคานี้ขี้นมาก็ต้องมาดูว่า สุดท้ายแล้วราคาที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยพอใจอยู่ตรงไหน
ถ้าราคา 19-20 บาท ชาวไร่อ้อยก็ไม่ขาย เพราะขายไปก็ขาดทุน เรามีของเราไม่ขายส่วนมันจะเสียก็ให้เสียไปเพราะขายไปก็ขาดทุน ส่วนราคาที่พอใจของชาวไร่อ้อยก็ต้องรอประชุมของคณะทำงานนี้
ผู้ประกอบการชี้กระทบแต่ยังไม่ปรับราคา
รายงานข่าวระบุว่า จากการสอบถามร้านขายเครื่องดื่ม ประเภทน้ำหวาน กาแฟ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ปรับราคา เพราะสต๊อกน้ำตาลทรายเดิมยังมีอยู่ ซึ่งการปรับราคาเครื่องดื่มขึ้นก็อาจจะไปกระทบกับผู้บริโภคและอาจจะทำให้ลูกค้าลดลง แต่ในอนาคตก็อาจจะปรับถ้าต้นทุนสูงขึ้น
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังจากมติครม.เห็นชอบให้เพิ่ม “น้ำตาลทราย” ขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไปนั้น มีเพียงบางอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องดื่ม ยาอม ลูกอม ขนมหวาน ที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งจะเป็นต้นทุนหลักจะได้รับผลกระทบก่อน แต่กลุ่มอาหาร อาจจะไม่กระทบมากเพราะปัจจุบันเทรน์การบริโภคเปลี่ยนไปผู้บริโภคลดความหวานในเมนูอาหารและหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งมีสารทดแทนความหวานจากพืชอื่น ๆ ดังนั้นกลุ่มอาหารอาจได้รับผลกระทบน้อย
“ค้าภายใน”สั่งพาณิชย์จังหวัดคุมเข้ม
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุมพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ สั่งการให้ลงพื้นที่ตรวจสอบไม่ให้เกิดการกักตุน รวมทั้งประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กรมศุลกากร การท่าเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ให้เข้ามาช่วยกันตรวจสอบ โดยเฉพาะในตลาดกลาง ตลาดสด ด้วย
นายวัฒนศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนประกาศของสอน. กรมฯได้แจ้งให้รับทราบ ถึงประกาศการคุมราคาเพื่อให้ สอน. ดำเนินการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ในการดูแลค่าครองชีพ เพราะ “น้ำตาลทราย” ถือเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และเป็นต้นทุนสำคัญในหลายตัวสินค้า ทั้งอาหารปรุงสำเร็จ เครื่องดื่ม รวมไปถึงเป็นวัตถุดิบสำคัญในสินค้าอีกหลายตัว จึงต้องลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
อ่านข่าว : เปิดวาร์ป "11 เมนูชื่อแปลก" 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น
สำหรับมาตรการดูแลราคาควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทราย หน้าโรงงาน ไว้เท่าเดิม คือ น้ำตาลทรายขาว ไม่เกินกิโลกรัม ละ 19 บาท และ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท ราคาขายปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่เกินกิโลกรัม ละ 24 บาท และ 25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมาตรการดูแลชาวไร่อ้อยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาออกมาตรการมารองรับ
ส่วนพื้นที่อื่นจะขึ้นอยู่กับกับค่าบริหารจัดการต้นทุน และขนส่ง รวมทั้งควบคุมการส่งออก โดยการจำหน่ายเพื่อการส่งออก เกิน 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป จะต้องขออนุญาตก่อน
ไม่คุมราคา”น้ำตาลทราย”แบบซอง
ทั้งนี้การคุมราคาน้ำตาลทราย กรมฯ ควบคุมแค่น้ำตาลทรายบรรจุถุง้ท่านั้น ส่วนน้ำตาลทรายก้อน น้ำตาลทรายซองขนาด 10กรัม หรือน้ำตาลทรายบรรจุขวด จะไม่มีการคุมราคาเพราะมีเรื่องของต้นทุนแพ็คเกจจิ้ง
นายวัฒนศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากร้านค้า ห้างสรรพสินค้า มีการจำหน่ายเกินราคาควบคุม จะมีความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 25 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีพบการกักตุน จะมีความผิดตามมาตรา 30 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้บริโภค สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569
โดยหลังจากนี้ไป 1 เดือน คงต้องติดตามต่อว่าคณะทำงานฯที่นายภูมิธรรมตั้งขึ้นมานั้น จะสามารถหาข้อสรุปและหาความสมดุลของราคาน้ำตาลให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายได้หรือไม่ เพราะต้องให้ทันกับฤดูกาลเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: