ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การจัดการพื้นที่ให้กระทิงเขาแผงม้า และข้อขัดแย้งที่ต้องร่วมกันหาทางออก

7 ก.ค. 58
05:44
690
Logo Thai PBS
การจัดการพื้นที่ให้กระทิงเขาแผงม้า และข้อขัดแย้งที่ต้องร่วมกันหาทางออก

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กรณีการนำพื้นที่ป่าซึ่งเคยได้รับการฟื้นฟูมานานกว่า 20 ปี กระทั่งเกิดความสมบูรณ์และมีกระทิงเข้ามาอาศัยจำนวนมาก ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กลับปรับพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปลูกหญ้าลูซี่ โดยอ้างว่าเป็นอาหารของกระทิง ขณะที่กระแสในโซเชียลมีเดียกลับมองว่า เป็นการปรับพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว และเอื้อประโยชน์กับบรรดารีสอร์ทต่างๆ ในบริเวณดังกล่าว

นพดล ประยงค์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล (วิจัยเรื่องเขาแผงม้า) เขียนรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ คนชายข่าว คนชายขอบ transbordernews.in.th ระบุว่า

ดูเหมือนว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์การไม่เห็นด้วยของกลุ่มคนที่เคยปลูกสร้างฟื้นป่าเขาแผงม้ามา ต่อรูปแบบการจัดการทุ่งหญ้าแบบปลูก (มีหญ้าลูซี่ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นเป็นหลัก) ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าและได้เกิดข้อโต้แย้งขึ้นมากมายในโลกออนไลน์ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีการกล่าวอ้างถึงงานวิจัยที่ได้ทำการทดลองมาก่อนหน้านี้ คือการจัดการต้นปอหูช้างเพื่อให้กระทิงใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเป็นงานวิจัยของผมที่ทำในระดับปริญญาเอก ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าซึ่งเป็นกลุ่มที่อาสาบริหารจัดการอนุรักษ์พื้นที่เขาแผงม้าอยู่ในขณะนั้น (ปี 2552) มีหลายประเด็นที่พอจะสรุปได้ว่า

“ในเมื่อก็มีการจัดการเหมือนกันในช่วงที่ผ่าน แต่ทำไมพอเขตห้ามล่าฯ จะทำบ้างแล้วถึงมีการโวยวาย” ซึ่งทำให้สังคมเกิดการเบี่ยงเบนประเด็นกลายเป็น กลุ่มคนผู้ฟื้นป่าเขาแผงม้าเรียกร้อง “ไม่ให้ทำการจัดการพื้นที่ให้กระทิง” ทั้งๆ ที่สิ่งที่กลุ่มคนดังกล่าวต้องการบอกคือ “การจัดการที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่นี้”

ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักการจัดการสัตว์ป่าจำเป็นเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าหลายชนิดในประเทศไทย หนึ่งในนั้นก็คือ สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ในกลุ่มวัวป่าและช้างป่า ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม จึงสำคัญต่อกระบวนการอนุรักษ์สัตว์เป้าหมายในกลุ่มนี้ของประเทศไทย

ด้วยการที่งานการจัดการพื้นที่เพื่อสัตว์ขนาดใหญ่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีการทำกันอย่างมากมายในพื้นที่แถบ แอฟริกาและอเมริการวมถึงยุโรปบางส่วนที่ส่วนมากเป็นระบบนิเวศทุ่งหญ้า (grassland และ rangeland) ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ในกลุ่มนี้ ตำราการจัดการสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในกลุ่มนี้จึงมักจะแสดงถึงแนวทางการจัดการพื้นที่อาหารเป็นสำคัญ ซึ่งก็สอดรับ เกี่ยวข้องและมีกระบวนการที่สอดคล้องกับระบบนิเวศดังกล่าว เช่น เช่นการปรับไถ การตัด การปลูกหญ้า ฯลฯ โดยตำราเก็เขียนเพื่อให้ใครที่ทำงานด้านนี้ได้ปรับใช้เป็นแนวทาง แต่คงไม่ได้หวังจะให้ลอกตำราไปทั้งหมด เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านระบบนิเวศวิทยาและมิติอื่นๆ มากมาย

หากมองลงมาที่ระบบนิเวศป่าฟื้นฟูเขาแผงม้าเลย ก็จะพบว่า มันเป็นป่าที่เรียกว่า ป่ารุ่นที่สองในระบบนิเวศป่าเขตร้อน (Tropical Secondary Forest) ซึ่งมีความหลากหลายของพันธุ์พืชมาก และยังอยู่ในช่วงที่มีกระบวนการทดแทนที่ของสังคมสิ่งมีชีวิตอยู่ (Succession) (แน่นอนว่าแตกต่างจากระบบนิเวศที่มักจะอ้างกันในตำราการจัดการสัตว์ป่าส่วนใหญ่) ดังนั้น กลุ่มพืชส่วนใหญ่ที่ปกคลุมอยู่จึงยังคงเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ไม้เบิกนำ (pioneer species) ที่ชอบแสงจัด แพร่กระจายและโตเร็ว (ไม่รวมไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่เอามาปลูก) เหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระทิงออกจากเขาใหญ่แล้วเข้ามาที่เขาแผงม้า และอยู่เป็นบ้านของพวกมัน ก็เพราะพวกพืชเบิกนำเหล่านี้ส่วนใหญ่คืออาหารของมันนั่นเอง ซึ่งมีหลายหลายชนิดมากทั้ง พวกหญ้า ไม้เลื้อยเถาวัลย์ และไม่พุ่มบางชนิด

งานของผมจึงถือหลักการจัดการสัตว์ป่า มาลองปรับวิธีการจัดการให้สอดรับกับพื้นที่ที่เป็นป่ารุ่นที่สองในระบบนิเวศป่าเขตร้อน (Tropical Secondary Forest) มากกว่าที่จะลอกตำรามาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทุ่งหญ้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 ที่ผมเข้ามาพื้นที่ ได้มีไม้เบิกนำชนิดหนึ่งที่เรียกชื่อกันว่า ปอหูช้าง (Macaranga sp.) ที่แม้จะเป็นไม้เบิกนำเช่นกัน แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่และมีพุ่มกว้าง จึงทำให้ลดพืชอาหารชนิดอื่นๆทั้งปริมาณและความหลากหลายในพื้นที่ด้านล่างที่มีมันปกคลุมอยู่ เพราะแสงที่เป็นปัจจัยหลักต่อการเติบโตส่องไม่ถึงพื้นนั้นเอง

ในช่วงนั้นจึงมีการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าเป็นแกนหลัก (ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ) และได้ทราบว่าปอหูช้างเป็นหนึ่งในปัญหาให้พืชอาหารในจุดที่จัดสรรไว้ในโซนแหล่งอาหารกลางหุบช้างป่านั้นลดลง กระทิงกระจายออกไปมากขึ้น คุณค่าที่เคยมีในการเชื่อมโยงสู่มิติอื่นๆของเขาแผงม้าจากการใช้กระทิงเป็นตัวเชื่อมก็ลดลงด้วย จึงเกิดแนวทางว่าเราอาจจะลองใช้หลักการของนิเวศวิทยาป่าเขตร้อนมาช่วยในการจัดการพื้นที่คือ การเพิ่มพื้นที่ช่องว่างแสง (Gap) ด้วยการล้มต้นปอหูช้าง เพื่อให้ไม้เบิกนำชนิดอื่นๆ ที่อยู่พื้นล่างได้มีแสงส่องถึงและเติบโตมาเป็นอาหารให้กระทิง ซึ่งโดยหลักการคาดว่าจะทำให้กระทิงเข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้นในพื้นที่ที่เรากำหนด

อย่างไรก็ตามความเหมาะสม ทั้งในเชิงขนาดเนื้อที่ที่จะจัดการและตำแหน่งพื้นที่ที่จะจัดการก็เป็นเรื่องที่เรามีการปรับกันมากในช่วงวางแผน จนได้ข้อสรุปว่าถึงแม้ว่าจะคาดการณ์ได้ถึงผลดีแต่ควรทดลองในพื้นที่เล็กๆก่อนที่ 30 ไร่ เพื่อให้มีข้อมูลว่ารูปแบบวิธีการนี้จะเกิดผลอย่างไร แล้วค่อยเอาผลนั้นมาร่วมวางแผนกันอีกที เห็นว่าแม้จะเป็นการจัดการพื้นที่ให้กระทิงเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างจากการจัดการทุ่งหญ้าแบบปลูกในปัจจุบันเนื่องจากงานวิจัยจะให้ความสำคัญต่อการจัดการไม้เบิกนำของป่ารุ่นสอง (secondary forest) มากกว่าเป็นการจัดการทุ่งหญ้า

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าว ไม่ได้บอกว่าของใครผิด ของใครถูก เพียงแต่จะบอกว่า แม้ทุกคนทุกฝ่ายจะเห็นด้วยว่าเขาแผงม้ามีความจำเป็นต้องมีการจัดการพื้นที่ให้กระทิง แต่รายละเอียดความรู้ที่แต่ละคนมีนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ควรมีการจัดการหรือไม่ควรมีการจัดการพื้นที่ (มันก้าวข้ามจุดนั้นมานานแล้ว) ประเด็นที่ควรขบคิดคือ การจัดการพื้นที่ควรทำอย่างไรให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ต่างหาก ซึ่งเพราะคำว่า ”เหมาะสม” นี้แหละ ถึงจำเป็นจะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก่อนจะทำอะไรที่อาจจะไปเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ ซึ่ง “ความเหมาะสม” ของแต่ละคนย่อมต่างกันขึ้นอยู่กับความรู้ข้อมูลที่ตัวเองมี

การมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการจึงสามารถช่วยให้ความเหมาะสมที่แต่ละฝ่ายคิด ลงมาอยู่ในกรอบของความเหมาะสมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แน่นอนว่าข้อมูลที่ไปออกสัมภาษณ์ชุมชนว่า ต้องการหรือไม่ต้องการอะไรที่มีอยู่นั้นถือว่ามีประโยชน์มากต่อการใช้ในการหาแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน แต่ก็ไม่ใช่เอามาใช้ว่านี้เป็นกระบวนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม มันแค่บอกว่าชุมชนต้องการให้มีการจัดการพื้นที่ การจัดการแหล่งน้ำ การจัดการท่องเที่ยว ฯลฯ แต่หากจะต้องจัดการอย่างไรนั้น ควรมีพื้นที่พูดคุยก่อน ละมีกระบวนการร่วมที่จะลงความเห็นว่าจะมีจัดการอย่างไร เท่าไหร่ วิธีใด นั้นต่างหากที่เรียกว่าการจัดการแบบมีส่วนร่วม

สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยต่อการจัดการในปัจจุบันคือการจัดการแบบปรับพื้นที่ขนาดใหญ่ไปเลย โดยไม่ได้เอามิติความนึกคิดของคนอื่นที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีส่วนในการฟื้นป่าแห่งนี้สมควรจะได้รับข้อมูลมีเวทีโต้แย้งปรับทิศทางด้วยกันก่อนที่จะลงมือทำ การจัดการดังกล่าวมันอาจจะถูกจะผิดก็ได้ ถ้าถูกก็ดีไป แต่ถ้ามันผิดหล่ะ? ไม่เท่ากับว่าเราทำลายระบบนิเวศไปแล้วโดยแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วหรือ? กรณีงานวิจัยของผมถึงจำเป็นจะต้องทดลองก่อน ในพื้นที่เล็กๆ 30ไร่ ส่วนจะทำอย่างไรต่อก็จะสามารถเอาข้อมูลที่ได้มาว่ากันอีกที

การตัดต้นปอหูช้างในงานก่อนหน้านี้อาจจะดูรุนแรง มากกว่าการจัดการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็จำเป็นเพราะปอหูช้างเป็นไม้เบิกนำ ซึ่งกระจายอยู่แน่นมาก จำนวนที่ตัดต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ก็ต้องมากตาม แต่เรารักษาหลักการที่ว่า ให้เลือกตัดเฉพาะไม้เบิกนำชนิดนี้ชนิดเดียว แล้วจะได้ให้ความหลากหลายของพืชอาหารได้เติบโตออกมาซึ่งก็มีมากกว่า 60 ชนิด แต่ในปัจจุบันดูเหมือนเป็นการจัดการที่แค่ไถเกลี่ย ไม่ตัดไม้ใหญ่ แต่สิ่งที่ไม่รู้คือ พื้นที่ที่เกลี่ยพื้นปรับสภาพจนโล่งนั้น ได้ทำให้พืชกี่ชนิดที่หายไป กล้าไม้ที่อยู่ในระยะงอกเป็นต้นเล็กๆ อยู่ คนขับรถไถได้ใส่ใจหรือไม่ พุ่มเถาวัลย์ไม้พุ่มเล็กๆ ได้เว้นให้เป็นอาหารกระทิงหรือเปล่า แต่ที่กล่าวมามันไม่หนักมาก หากแนวคิดคือเกลี่ยเพื่อให้ฟื้นใหม่ อาจจะถือเป็นการพื้นที่ให้ความหลากหลายขึ้นมาใหม่ได้ (back succession) แต่เมื่อปรับพื้นที่แล้วปลูกหญ้าลูซี่ อันนี้ก็เท่ากับว่าปิดโอกาสที่จะให้พันธุ์พืชเหล่านั้นงอกมาใหม่อย่างถาวร เพราะโดนหญ้าชนิดนี้ปกคลุมเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

จริงๆ การจัดการพื้นที่เขาแผงม้ามันมีเรื่องผลกระทบด้านมิติอื่นๆ อีกมาก แต่คงไม่ขอยกมาในที่นี้ เพราะมันมีรายละเอียดมากกว่า แค่ทุ่งหญ้าเลี้ยงกระทิง มิติอื่นๆ จึงควรเป็นเวทีพูดคุยมากกว่า และจริงๆ แล้วควรจัดก่อนทำการจัดการใดๆ แทนที่จะจัดการไปแล้วค่อยมีเวทีแสดงความเห็น

(http://transbordernews.in.th/home/?p=9077#prettyPhoto)
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง