หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบผู้นำจีน และมีการพูดคุยกัน จนมาถึงการให้สัมภาษณ์ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่บอกยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำเจ้าปัญหา แต่เปลี่ยนมาซื้อ “เรือฟริเกต” แทน
"สุทิน" ย้ำกองทัพเรือเสนอมาเอง เปลี่ยน "เรือดำน้ำ" เป็น "เรือฟริเกต"
เรามาดูกันว่า “เรือฟริเกต” ที่ประจำการในกองทัพเรือไทย มีที่มาที่ไปอย่างไร
กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2496 เป็นหน่วยกำลังรบทางเรือที่เก่าแก่ที่สุดหน่วยหนึ่งของกองทัพเรือไทย มีเรือที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ จนมีการเปลี่ยนชื่อหน่วย เป็นเช่นในปัจจุบัน ตามการแก้ไขอัตราจัดกองเรือยุทธการใหม่ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2535
โดยมีการจัดตั้งหน่วยใช้กำลังทางเรือใหม่รวมถึง กองเรือฟริเกตที่ 2 ที่ประจำการด้วยเรือฟริเกตที่ซื้อมาจากประเทศจีนคือ ชุดเรือหลวงเจ้าพระยา 4 ลำ (เจ้าพระยา, บางปะกง, กระบุรี, สายบุรี) และชุดเรือหลวงนเรศวร 2 ลำ (เรือหลวงนเรศวร, เรือหลวงตากสิน) พร้อมการเปลี่ยนหมายเลขเรือ (pennant number) จากเลขตัวเดียวเป็นเลขสามหลัก
การเปลี่ยนแปลงกำลังทางเรือของกองเรือฟริเกตที่ 1 ที่สำคัญ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การปลดประจำการเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 2 ลำ (เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย)
ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชั้น Knox ที่เคยประจำการในกองเรือสหรัฐฯ ที่จัดหาช่วงในปี 2537-2540 คือ ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในวันที่ 30 กันยายน 2560 และเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ในวันที่ 1 เมษายน 2558
นอกจากนี้ กองเรือฟริเกตที่ 1 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ ล่าสุดปลดประจำการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงตาปี (เรือหลวงตาปี, เรือหลวงคีรีรัฐ) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 และปลดประจำการเรือหลวงคีรีรัฐ ในปี 2566
คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติการจัดหาเรือฟริเกตตรวจการณ์ (Patrol Frigate) แบบ PF-105 (PF-103) ที่สร้างโดยอู่เรือบริษัท American Shipbuilding และบริษัท Norfolk Shipbuilding & Drydock สหรัฐฯ 2 ลำ เป็นวงเงินลำละ 7,878,000 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2511
ส่วนกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กองทัพเรือปรับโครงสร้างหน่วยกำลังรบใหม่ โดยจัดแบ่งกองเรือตามประเภทจากเดิม 4 กองเรือ เป็น 9 กองเรือ
ต่อมากองทัพเรือได้รับมอบเรือฟริเกตชุด เรือหลวงเจ้าพระยา ซึ่งต่อจากประเทศจีน 4 ลำ คือ เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี
“เรือหลวงเจ้าพระยา” เดินทางถึงประเทศไทยเป็นลำแรก เมื่อเดือนเมษายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงเจิมเรือชุด เรือหลวงเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2536
เพื่อความเป็นสิริมงคลกองเรือฟริเกตที่ 2 จึงถือเอาวันดังกล่าว เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยตลอดมา และในปี 2537 กองทัพเรือได้รับมอบ เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน เข้าสังกัดกับกองเรือฟริเกตที่ 2
สำหรับกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ มีหน้าที่ในการจัด และเตรียมกำลังสำหรับการปฏิบัติการผิวน้ำการปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ ตั้งแต่ก่อตั้งเป็นต้นมา
กองเรือฟริเกตที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์ จนเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ เช่น การจัดเรือปฏิบัติราชการกองเรือภาค ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน การจัดกระบวนเรือคุ้มกัน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ในการเดินทางจากประเทศสเปนกลับมายังประเทศไทย การฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของนักเรียนนายเรือ
จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายที่ผ่านมา ทำให้กำลังพลของกองเรือฟริเกตที่ 2 มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในทะเล
สำหรับเรือฟริเกต ของกองทัพเรือไทย ที่ได้รับพระราชทานให้ใช้พระนามพระมหากษัตริย์ ตั้งเป็นชื่อเรือ เช่น
413 เรือหลวงปิ่นเกล้า
421 เรือหลวงนเรศวร
422 เรือหลวงตากสิน
433 เรือหลวงมกุฎราชกุมาร
461 เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
462 เรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย
471 เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
อ้างอิง
https://www.navy.mi.th/
https://www.google.com
https://www.carrushome.com/
https://aagth1.blogspot.com/
อ่านข่าวอื่นๆ