ไทยพีบีเอสศูนย์ข่าวภาคเหนือ ร่วมกับ องค์กรการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนา เพื่อหาแนวทางการจัดการศึกษาให้กับสามเณรกลุ่มนี้ ณ ห้องประชุมศาลาปฏิบัติธรรม ข้างโบสถ์พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก อ.เมืองเชียงใหม่

นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้กีดกันการศึกษา มีนโยบายขยายการศึกษาแก่ประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่
แต่สำหรับกลุ่มสามเณรซึ่งมีทั้งกลุ่มคนไทยตกหล่น กลุ่มเด็กไร้รัฐ และ กลุ่มที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กลับไม่มีรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กหญิงและเด็กชาย เมื่อจะเข้าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาก็ไม่ได้ เพราะมีเฉพาะระดับมัธยมศึกษา

ส่วนแนวทางอื่นๆ ทั้ง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็อายุไม่ถึงเกณฑ์ 15 ปีขึ้นไป กลุ่มสามเณรจึงเป็นกลุ่มล่องหน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และ โรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม ได้ทดลองเปิดห้องเรียนประถมศึกษา หรือ ห้องเรียนเตรียมมัธยมศึกษาในปี 2566 มีนักเรียนรวม 81 รูป

โดยชื่อนำสามเณรไปผูกติดไว้กับสถาบันการศึกษาทางไกล (สทก.) โดยศูนย์พัฒนาการศึกษาทางไกลลุ่มน้ำโขง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อให้มีสิทธิเข้าถึงรหัสตัว G ไม่ให้หลุดออกจากการศึกษา
เวลาสอบวัดผลกลางภาค และปลายภาพ ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทาง ภายหลังได้ย้ายชื่อไปยังศูนย์การเรียนไร้ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ช่องทางที่ยั่งยืนในอนาคต

ข้อจำกัดทั้งหมดจึงมีการร่วมหารือ และได้ขอสรุปในการขอเปิดศูนย์การเรียนภายใต้มูลนิธิโพธิยาลัย สำหรับสามเณร 81 รูป และสามเณรอีกหลายร้อยรูปในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ยื่นเอกสารต่างๆ ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เพื่อไม่ให้สามเณรหลุดจากการศึกษา และ ส่งต่อผู้เรียนให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมในระดับ ม.1-6 และ ระดับอุดมศึกษาต่อไป

พระมหาอินสอน คุณวุฒโฑ ผอ.โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ ให้ความเห็นว่า ศูนย์การเรียนน่าจะเป็นทางออกในการจัดการศึกษาสำหรับสามเณร ทั้งกลุ่มไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มตกหล่น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุด แต่ในระยะยาวเราก็ต้องแบกภาระในการบริหารจัดการหรือไม่ ทั้งครูผู้สอน และสามเณรผู้เรียน
เนื่องจากศูนย์การเรียนไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนในระยะยาว คือ การแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 เพื่อขยายระดับชั้นเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม ลงมาถึงระดับประถมศึกษา
ถ้าเรามีโอกาสจัดการศึกษาแก่สามเณรที่บวชแล้วไม่ลาสิกขา โรงเรียนพระปริยัติในแต่ละอำเภอ ก็จะสามารถรองรับสามเณรที่หลุดจากการศึกษาได้ ไม่เฉพาะแค่เชียงใหม่ แต่หลายพื้นที่ แม้แต่กรุงเทพมหานครฯ ก็มีสามเณรกลุ่มนี้
พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ ผศ. อาจารย์ประจำบัณฑิตศึกษา มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่าในฐานะนักการศึกษา จึงต้องพยายามช่วยเหลือลูกเณรที่เป็นคนไทยตกหล่น อยู่ระหว่างพิสูจน์สถานะ หรือกลุ่มผู้ติดตามแรงงานเข้ามาในประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำการศึกษานำไปสู่ความปลอดภัยของลูกพระลูกเณรที่เป็นเยาวชน

ศูนย์การเรียนเคยมีอยู่ในวัดคือ ศูนย์การเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นศูนย์การเรียนหนึ่งที่กรมการศาสนาเคยดูแล แต่เราไม่ได้ใช้กลไกนี้มาพัฒนา หากนำศูนย์การเรียนมาใช้ ก็จะแก้ปัญหานี้ได้ จึงเป็นที่มาขอเสนอตั้งศูนย์การเรียนโพธิยาลัย

นางหทัยรัตน์ ชาญศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 กล่าวว่า สพฐ.ได้กำหนดให้ จ.เชียงใหม่ ตาก เชียงราย เป็นจังหวัดนำร่องในการส่งเสริมเด็กรหัสตัว G-Code หรือ กลุ่มเด็กที่ไร้สถานะทางทะเบียน ให้มีเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อสิทธิ์ต่างๆ

ส่วนสามเณรที่เสี่ยงหลุดจากการศึกษานั้น โรงเรียนสังกัด สพฐ.บางส่วนเปิดให้สามเณรเข้าไปเรียนร่วมได้ แต่หากสามเณรไม่เปลี่ยนสถานะนำหน้าชื่อ จากสามเณร เป็น เด็กชาย ก็จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนการศึกษารายปี จาก สพฐ. รวมถึง อาหารกลางวัน และนม

ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์การเรียนของมูลนิธิ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ได้ปรึกษาหารือกับส่วนต่างๆ ในเบื้องต้นแล้วทั้งด้านวิชาการ แผนการศึกษา
ขั้นตอนต่อไปต้องเชิญผู้จัดการศึกษามาร่วมจัดทำแผนร่วมกัน ซึ่งต้องมีการประกันคุณภาพ สอดรับนโยบายของ สพฐ. และ สอดคล้องกับหลักสูตรพระปริยัติด้วย

นางสุนิทรา พรมมล ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ ชี้แจงด้วยว่า การจัดการเรียนการสอบศูนย์การเรียน นอกจากการทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ทางกลุ่มฯ จะไปตรวจสอบสถานที่เรียน โดยทั่วไปหากเปิด ป.1-6 จะต้องมีครูที่มีวุฒิการศึกษา
ส่วนห้องเรียนก็จะต้องมีมาตรฐาน เหมาะสมในการจัดตั้งหรือไม่ บางศูนย์ที่มีนักเรียนเยอะ แต่สถานที่คับแคบก็จะเป็นอุปสรรคในการจัดการเรียน เราก็จะให้คำแนะนำแก้ไข
หากผ่านทั้งหมด ก็จะเสนอไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อรับเรื่อง และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติเปิดศูนย์การเรียน โดยเมื่อสามารถเปิดศูนย์การเรียนได้แล้ว ก็จะมีการนิเทศติดตาม ในเรื่องการจัดการเรียนการสอน
นางวราภรณ์ ฟูสามป๊อก รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาให้กับสามเณรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ด้วยการตั้งศูนย์การเรียน ถือเป็นทางออกที่สามารถจัดทำได้เป็นรูปธรรม อาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องไม่ได้รับเงินอุดหนุน อาทิ เงินรายหัว เงินเรียนฟรี 15 ปี เงินอาหารกลางวัน และ อาหารเสริมนม แต่สามารถออกผลการเรียนให้กับลูกเณรได้ สำหรับงบประมาณก็อาจใช้วิธีระดมทุนเพื่อดำเนินการ

นายมณเฑียร คูคำมี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การเสวนาปัญหาจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาของสามเณรกลุ่มตกหล่น หรือ ยังไม่มีสถานะในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อาจขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ

ในระยะนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับรายละเอียดในการออกอนุบัญญัติต่างๆ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องรับทราบถึงปัญหานี้ และ พร้อมที่จะแก้ไขในระยะต่อไป โดยจะมีการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอนาคตจึงเชื่อว่าจะต้องมีกรอบแนวทางที่ชัดเจน และ เหมาะสมกับสามเณร
การแก้ปัญหานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อแก้ปัญหาในระดับองค์รวม หรือ ประเทศต่อไป สิ่งสำคัญ คือ ฐานข้อมูลต้องชัดเจน โดยเฉพาะ การออกหนังสือสุทธิให้กับลูกเณร ต้องจัดการควบคู่กันไป
พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโส ไทยพีบีเอส