วันนี้ (18 ต.ค.2566) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้าน 66 คน เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน คณะกรรมผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดี
นายสะท้าน ชีววิชัยพงษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน หนึ่งในตัวแทนผู้ฟ้อง เปิดเผยว่า สาเหตุที่ยื่นฟ้องครั้งนี้ สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มองว่า
ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของประชาชนมีน้อย และไม่มีความชอบธรรม ยกตัวอย่างการพูดคุยในร้านลาบ ก็ถูกยกมาเป็นส่วนหนึ่งในรายงาน ซึ่งไม่ใช่เวที หรือ กระบวนการประชุมในตัว EIA หรือ การนำภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวไปประกอบในรายงาน
นายพิบูลย์ ธุวมณฑล เครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม อาจอ้างเป็นพื้นที่ป่า ทั้งที่พื้นที่หมู่บ้านเป็นจุดอุโมงค์ผ่าน เป็นจุดกองดินใหญ่ที่สุด ใกล้พื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่า

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ เปิดเผยถึงโครงการผันน้ำยวม เป็นโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน การสร้างเขื่อนที่สูบน้ำท้ายเขื่อนเข้าไปในอุโมงค์
ปกติโครงการสร้างเขื่อนนำน้ำไปใช้ต้องเป็นไปตามแรงโน้มถ่วง แต่กรณีนี้เป็นการสร้างเขื่อน เพื่อเอาน้ำไปใช้กับชลประทาน อีกฝั่งคนละลุ่มน้ำ ไปสร้างเขื่อนฝั่งสาละวินและสูบน้ำเข้าอุโมงค์ แล้วนำน้ำไปใช้เจ้าพระยา ทั้งหมดต่างจากโครงการที่เคยทำแบบเดิม
ถ้าไม่ใช้เงินสูบน้ำ ไม่ได้น้ำเข้าอุโมงค์ ต่อปีใช้เงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟสูบน้ำ 2,400 – 2,500 ล้านบาทหรือมากว่านั้น ถ้าค่าไฟสูง แต่เอาน้ำไปใช้ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเทียบกับเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ที่มีความจุ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบบชลประทาน 3.4แสนไร่
โครงการผันน้ำฯ อ้างว่าได้น้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร อ้างว่าพื้นที่ชลประทาน 1.6 ล้านไร่ ซึ่งตนมองว่าเกินกว่าที่ควรเป็น เพราะการทำนา 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อรอบ คาดว่าปริมาณน้ำเท่านี้จะใช้ได้ไม่เกิน จ.กำแพงเพชร น้ำก็จะถูกใช้หมด ไม่มีทางไปถึง จ.นครสวรรค์ หรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ ยังระบุถึงความกังวลถึงการสูบน้ำโครงการ ว่าไม่มีโครงการสูบน้ำท้ายเขื่อนได้ 8 เมตร ประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่ำกว่านี้สูบไม่ได้ ความเสื่ยงการออกแบบผิดหลักวิศวกรรม ถ้าจะได้น้ำมากจริงตามประมาณที่คาดการณ์ต้องไปสูบหน้าเขื่อน แต่จุดท้ายเขื่อนสูบห่างกัน 20 กม.ในเชิงข้อเท็จจริงไม่สามารถสูบน้ำได้ตามคาดการณ์
ส่วนงบประมาณก่อสร้าง ถือว่าเป็นโครงการลงทุนของกรมชลประทานที่มีงบประมาณสูง กรมชลประทานไม่มีงบประมาณมาลงทุน จะให้เอกชนมาลงทุน ค่อยเก็บค่าคุ้มทุนคืนมา การจัดการน้ำโครงการสร้างเขื่อนภาคเอกชนมาทำโครงแรก ถ้าเอกชนพิจารณาตามข้อเท็จจริงน้ำ 1 ปี 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรไม่มีทางสูบได้
เมื่ออ่านรายงานให้เอกชนลงทุน แต่จ่ายเงินงบประมาณหลวงด้วย เพราะเก็บเงินปีละ 2,000 กว่าล้านบาท จ่ายค่าไฟก็หมดแล้ว เอาเงินรัฐไปสนับสนุนอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท โครงการนี้เอกชนได้กำไรเต็มๆ ถึงแม้โครงการไม่คุ้มทุนไม่สามารถส่งน้ำได้มาก
ขณะเดียวกันการสร้างเขื่อนผันน้ำในโครงการใช้ข้อมูลเมื่อ 40 ปีที่แล้วเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ฤดูกาลไม่เปลี่ยน ปัจจุบันน้ำยวม น้ำเงา น้ำคงที่ไม่สูงไปมากกว่านี้ ถ้ารอหน้าฝนต้องรอให้เต็ม 1 ปี อัตราการสูบน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรอาจล้มเหลว
งบประมาณการเชิญชวนเอกชนมาบริหาร โครงการ 8.8 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นลงทุน ต่อมาค่าบริหารโครงการ/สูบน้ำ รวม 1.72 แสนล้านบาท และเมื่อเอกชนลงทุนทั้งหมด คิดค่าดอกเบี้ย บริหารต่างๆ งบเพิ่มอีกกว่า 6 หมื่นกว่าล้าน รวมโครงการ 2.3 แสนล้านบาท ในความจำเป็นคุ้มทุนหรือไหม?

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ มองว่า โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากร่วมทุนเอกชน 30 ปี เอกชนจะสามารถได้กำไร 6 หมื่นล้านบาท
กังวลว่า จะมีการทำลายป่าละเมิดสิทธิชุมชน ใช้งบประมาณสูง และงบเอื้อประโยชน์กับเอกชน โดยนำทรัพยากรที่มีคุณค่า ป่ารอยต่อ ตาก-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน จะถูกทำลาย
ส่วนการลุกขึ้นมารวมตัวของเครือข่ายลุ่มน้ำฯ ครั้งนี้ ตนมองว่า เป็นการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน ในการใช้ทรัพยากรและการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องประชาชนมาตลอด ครั้งนี้หวังพึ่งศาลปกครองเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิ์ของชุมชน

สำหรับโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จะมีการก่อสร้างหลักๆ เช่น การสร้างเขื่อนผันน้ำยวม อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบส่งอุโมงค์น้ำจากน้ำยวมไปยังเขื่อนภูมิพลระยะทาง 62 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ครอบคลุม 36 หมู่บ้าน
โดยผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลพิพากษาว่า การดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน และการจัดทำ EIA และให้ดำเนินการออกกฎหมาย ระเบียบ หรือ ข้อบังคับ เพื่อให้คุ้มครองและอนุรักษ์ลุ่มน้ำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดปม : ผันน้ำยวม 70,000 ล้านบาท
สำรวจจุดก่อสร้างเขื่อนน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผันน้ำลงเขื่อนภูมิพล
ชาวบ้านมึน! สผ.เรียกเก็บค่าถ่ายเอกสาร EIA ผันน้ำยวม 2 หมื่นบาท