วันนี้ (12 ต.ค.2566) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระพิจารณาญัตติกระทู้ถามสดด้วยวาจา นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศ เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์อพยพเพื่อนำตัวแรงงานชาวไทยในอิสราเอลออกมา
จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ เป็นตัวแทน รมว.ต่างประเทศ ตอบกระทู้ถาม โดยชี้แจงว่า ปัจจุบันการโจมตีทางอากาศของกลุ่มฮามาสยังคงดำเนินการอยู่ ล่าสุดวันนี้ (12 ต.ค.) ได้รับรายงานว่ายังมีการยิงจรวด โดยมีเป้าหมายโจมตีสนามบิน โรงไฟฟ้า คาดการณ์ว่ามีกลุ่มฮามาส 400 คน แทรกซึมเข้าไปก่อเหตุในอิสราเอล และมีกลุ่มอื่นแทรกซึมทางฝั่งเลบานอน โดยรัฐบาลอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ และปิดล้อมฉนวนกาซา
การโจมตีและการสู้รบในเขตฉนวนกาซา ล่าสุดยอดคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 14 คน ถูกลักพาตัวเพิ่ม 2 คน รวมเป็น 16 คน
จากการพูดคุยกับทูตอิสราเอล ล่าสุดสถานการณ์ในประเทศยังมีความเสี่ยงโดยมีการโจมตีอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการปิดถนน รวมถึงเส้นทางอพยพทางน้ำต้องผ่านหลายจุดเสี่ยง ซึ่งประเมินได้ยาก
รัฐบาลเป็นห่วงคนไทยทุกคน แต่ข้อจำกัดของอิสราเอลตอนนี้ทางบกมีการปิดถนน ทางน้ำในการอพยพคนต้องผ่านจุดเสี่ยงที่มีการสู้รบ
ขณะที่การขนย้ายคนออกนั้น การจะขับรถออกมาต้องขออนุญาตทางการอิสราเอลก่อน เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ที่ขับรถออกมาโดยไม่ได้ขออนุญาต จนเกิดความเข้าใจผิดกันมาแล้ว จึงเป็นสิ่งน่าเป็นห่วงว่าประชาชนชาวไทยอาจได้รับความเสี่ยง ซึ่งทุกครั้งที่มีการเดินทาง เอกอัครราชทูตไทย จะรายงานกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลทุกครั้ง
นอกจากนี้ การจะติดต่อกับแรงงานไทยทั่วประเทศอิสราเอล หลายครั้งแรงงานไทยไม่สามารถระบุตำแหน่งของตัวเองได้ จึงต้องพูดคุยกับล่ามและเจ้าหน้าที่ และกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานส่งตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมไปช่วยเหลือ เนื่องจากบุคลากรมีจำนวนจำกัด
ยืนยันว่าสถานทูตไทยทำงานอย่างเต็มที่ ใช้ทุกวิถีทางการทูต
นายจักรพงษ์ ยังระบุว่า เส้นทางการอพยพผ่านชายแดนประเทศอื่น ๆ นั้น รัฐบาลไทยได้เจรจาทุกประเทศใกล้เคียงแล้ว เช่น จอร์แดน อียิปต์ แต่บางชายแดนก็เริ่มปิดแล้ว และจะมีการเปิดเป็นระยะๆ โดยไม่รู้ล่วงหน้า เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งทางทูตได้พยายามหารถของทางการอิสราเอลส่งไป
"ข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ส่งคนไทยกลับมาเที่ยวละเยอะ ๆ ไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่เครื่องบินลงไปรับคน ต้องรอให้ทางการอิสราเอลค่อย ๆ พาคนมาทีละกลุ่ม ๆ แล้วค่อยขึ้นเครื่องได้ จึงต้องมีแพลนเป็นรายวันและหน้างานว่าประชาชนพร้อมแค่ไหนที่จะเดินทาง"
สำหรับการตั้งศูนย์อพยพ แรงงานไทยในพื้นที่ฉนวนกาซามีอยู่ 5,000 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ความเสี่ยงสูง รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการนำตัวคนไทยในพื้นที่ความเสี่ยงสูงออกมาก่อน โดยมีทางการอิสราเอลให้ความช่วยเหลืออยู่ หากสามารถจับกลุ่มได้จะมีการตั้งศูนย์อพยพแน่นอน