ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทศกาลกินเจ 2566 ราคาอาหารปรับขึ้น คน กทม.คุมค่าใช้จ่าย-ลดวัน

เศรษฐกิจ
11 ต.ค. 66
13:42
2,236
Logo Thai PBS
เทศกาลกินเจ 2566 ราคาอาหารปรับขึ้น คน กทม.คุมค่าใช้จ่าย-ลดวัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง กินเจคนกรุงเทพฯ ปี 2566 คาดเม็ดเงินโต 3.5% ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารเจที่ยังคงปรับเพิ่ม ขณะที่ ประชาชนปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อควบคุมงบประมาณ โดยการลดวันกินเจลง

เทศกาลกินเจปี 2566 จะเริ่มขึ้นวันที่ 15-23 ต.ค.2566 รวมเป็นเวลา 9 วัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ได้แก่ ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต

นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ รวมถึงราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ล่าสุดเดือน ก.ย.2566 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5% และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1% สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหาร ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้น เช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางราคาอาหารเจที่มีอาจปรับสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพบางส่วน อาทิ มหกรรมลดราคา แต่ผู้บริโภคยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงรายได้ในอนาคต สะท้อนจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะกินเจ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายตลอดเทศกาล โดยการลดวันกินเจลง รวมถึงเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายที่ราคาไม่สูง อาทิ ร้านอาหารตักขายข้างทางและนั่งทานในร้าน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

มองไปข้างหน้า ด้วยคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้น โจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะการชูจุดขายความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป รวมถึงพัฒนาความพิเศษให้กับเมนูอาหารเพื่อสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ดีและนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำ อาทิ ใช้วัตถุดิบ พรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซุปเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิมๆ ที่มีจำหน่ายในตลาด รวมถึงการจัดโปรโมชั่นหรือส่วนลดให้กับอาหารเจทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เทศกาลกินเจปี2566 คึกคัก 82.2%กินต่อเนื่อง เชื่อได้บุญ-สุขภาพดี

พาณิชย์ คุมเข้ม "เทศกาลกินเจ" ผักไม่ขาดตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง