โด่งดังไปทั่วโลก สำหรับเหตุโจมตีที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของอิสราเอล เริ่มต้นรุ่งสางวันเสาร์ ที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มฮามาสจากเขตกาซาบุกเข้าไปก่อเหตุ โจมตีอิสราเอลหลายจุด โดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งนักวิชาการบางคนเปรียบเทียบว่านี่คือ "เพิร์ล ฮารเบอร์" ของอิสราเอล
ไทม์ไลน์ อิสราเอล-ฮามาส
หาไล่เลียงไทม์ไลน์ปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้เริ่มขึ้นเวลาประมาณ 06.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อเสียงไซเรนเตือนภัยครั้งแรกดังขึ้น เป็นการแจ้งเตือนว่ามีการยิงจรวดเข้ามาในตอนกลาง และตอนใต้ของอิสราเอล หลังจากนั้นกลุ่มฮามาสได้ระดมยิงจรวดหลายพันลูกเข้ามาในอิสราเอล จรวดบางลูกถูกยิงไปถึงกรุงเทลอาวีฟ และเยรูซาเล็ม
หลังจากนั้นไม่ถึง 1 ชั่วโมง กองทัพอิสราเอลยืนยันว่ามีนักรบของกลุ่มฮามาส ข้ามจากฝั่งกาซาเข้ามาทางตอนใต้ของอิสราเอล ทางการท้องถิ่นถึงแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ซ่อนตัวอยู่ในที่พัก
ในเวลา 08.15 น. เสียงไซเรนในเยรูซาเล็มดังขึ้นเป็นครั้งแรก และเริ่มมีจรวดยิงเข้ามา แต่ระบบต่อต้านขีปนาวุธ "ไอรอน โดม" ของอิสราเอลสกัดเอาไว้ได้
ภายใน 2 ชั่วโมงแรก นับตั้งแต่เสียงไซเรนดังขึ้นครั้งแรกในดินแดนของอิสราเอล สถานการณ์เริ่มชัดเจนว่านอกจากกลุ่มฮามาสจะระดมยิงจรวดใส่อิสราเอลแล้ว ยังจับตัวประกันในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล กลับไปที่กาซาด้วย รัฐบาลอิสราเอลจึงประกาศภาวะสงคราม และเรียกกำลังพลสำรองเข้าประจำการ 300,000 นาย ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
จุดที่มีความรุนแรง ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้และบริเวณชายแดนที่ใกล้กับเขตกาซา จุดที่กลุ่มฮามาสบุกเข้าไป ได้แก่ จุดผ่านพรมแดนอีเรซ และกองบัญชาการทหารกาซาที่เมืองเรอิม เป็นต้น
และในเวลา 10.34 น. ฝั่งอิสราเอลเริ่มปฏิบัติโต้กลับอย่างเต็มรูปแบบ
กลุ่มฮามาสปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล
จากนั้นไม่นาน เบนจามิน เนธันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุ โดยประกาศว่า อิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงคราม ก่อนที่จะเดินหน้าปฏิบัติการโต้กลับกลุ่มฮามาสอย่างเต็มกำลัง และขอให้ประชาชนในเขตกาซาอพยพออกนอกพื้นที่ทันที เพราะอิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการตอบโต้ เพื่อแก้แค้นใน "วันวิบัติ" หรือ "แบล็ค เดย์"
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายให้ทั้งสองฝ่าย และมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 1,500 คน บาดเจ็บนับพันคน และดูเหมือนว่าจะขยายวงกว้างสู่ระดับภูมิภาค และไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ ขณะที่นานาชาติ ต่างเร่งอพยพพลเรือนออกจากอิสราเอลแล้วเช่นกัน
ชาวปาเลสไตน์ตรวจสอบความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล
สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบไทย
ในส่วนของประเทศไทย ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด ว่า คนไทยเสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 9 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน
สำหรับในปีหนึ่งๆ มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลผ่านกรมการจัดหางานกว่า 20,000 คน ยังไม่รวมเดินทางไปเอง บริษัทจัดส่งไปทำงาน หรือกลับเข้าไปทำงานใหม่อีกครั้ง โดยกว่า 90% ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตร
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รายงานว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลที่ไปทำงานใน 12 เมืองของอิสราเอล เมืองที่นิยมไปทำ คือ ทางตอนใต้ของอิสราเอล 12,665 คน ทางตอนกลาง 5,894 คนเขตเหนือ 3,865 คนเขตไฮฟา 1,397 คน เขตเทลอาวีฟ 710 คน
ซึ่งขณะนี้มีคนไทยแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ประมาณ 3,000 คน ประสงค์อยู่ต่อ 100 คน ซึ่งทั้ง 2 ส่วน มีทั้งแรงงานที่เดินทางไปอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย
แผนอพยพแรงงานไทย
การอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล จะทำทุกวิถีทางทั้งการใช้เครื่องบินเหมาลำ และเครื่องบินของกองทัพ เพื่อนำคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด
ส่วนการนำคนไทยกลุ่มแรกกลับไทย ได้รับรายงานจากสถานทูต ในกรุงเทลอาวีฟว่าเที่ยวบินแรกกลุ่มแรก 15 คนเป็นผู้บาดเจ็บ 4 คน และอีก 11 คนกลับไทยใช้สายการบินอิสราเอล LY081 โดยสถานทูตหาที่นั่งได้เที่ยวเดียวจะออกเดินทาง 21.45 น. ของวันที่ 11 ต.ค. ถึงสุวรรณภูมิ 10.35 น. วันที่ 12 ต.ค.นี้
เที่ยวบินต่อไปอีก 80 คน วันที่ 18 ต.ค.นี้ ส่วนผู้แจ้งความประสงค์จะกลับไทยอีก 3,026 คน จะหาทางอพยพกลับทั้งใช้สายการบินพาณิชย์ และเครื่องบินทหารของไทย
แม้สถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง รุนแรงต่อเนื่อง แต่แรงงานไทยหลายคน ยังไม่ประสงค์กลับประเทศไทย เหตุผลหนึ่ง มาจากรายได้ที่สูง กลัวว่าจะไม่มีงานทำ และหากเดินทางกลับไทยแล้ว จะไม่ได้กลับไปทำงานที่อิสราเอลอีก
C-130 - แอร์บัส A340 เตรียมพร้อม
สำหรับภารกิจรับคนไทยกลับจากอิสราเอลครั้งนี้ กองทัพอากาศได้จัดเตรียมเครื่องบินแบบ (C-130) จำนวน 5 ลำ และ แอร์บัส A340 อีก 1 ลำ โดยเครื่องบินทั้ง 2 รุ่น ได้เคยใช้ในภารกิจการอพยพคนไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกี และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานช่วงที่ผ่านมา
สำหรับเครื่องบินแบบ C-130 ทั้ง 5 ลำ คาดว่า จะใช้เวลาเดินทางขาละประมาณ 15 ชม. ด้วยความเร็วทำการบินประมาณ 500 - 600 กม./ชม. ไป-กลับ คาดว่าใช้เวลาราว 30 ชม. เครื่องรุ่นนี้ จุได้ประมาณ 80 - 100 ส่วนขากลับอาจต้องพิจารณาอีกครั้ง จากปัจจัยทั้งเรื่องน้ำหนักและอัตราการใช้น้ำมัน อาจเป็นไปได้ว่าต้องแวะที่ดูไบ เช่นเดียวกับภารกิจเมื่อครั้งอพยพคนไทยออกจากซูดานหรือไม่
ส่วนแอร์บัส A340 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถบินตรงไปได้เลย ใช้เวลา 9 - 10 ชม. จุได้ประมาณ 140 คน ซึ่งโดยปกติจะเป็นเครื่องที่ใช้รับรองบุคคลสำคัญของประเทศ แต่ก็จะถูกใช้ในภารกิจอพยพคนไทยครั้งนี้ด้วย
วิเคราะห์เส้นทางอพยพ
ตามข้อมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่า มีความเป็นไปได้ 3 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย ,ไซปรัส อียิปต์ และจอร์แดน เพราะแม้อิสราเอลไม่ได้ปิดน่านฟ้า แต่การจะเข้าไปถึงเทลอาวีฟในขณะนี้ ด้วยเครื่องบินของกองทัพ ดูเหมือนรัฐบาลอิสราเอลจะอนุญาตเป็นรายประเทศ และยังมีรายงานว่า เครื่องบินบางลำ บางประเทศลงได้ แต่ยังบินออกมาไม่ได้ก็มี
แต่ก็มีอีกแนวทาง คือ ถ้าใช้เครื่องของกองทัพบินเข้าไปไม่ได้ ก็อาจจะเช่าเหมาลำเครื่องพาณิชย์บินไปรับ เนื่องจากอิสราเอลยังอนุญาตให้ทำการบินอยู่ ซึ่งหากไม่สามารถไปรับที่กรุงเทลอาวีฟได้โดยตรง ก็อาจจะไปรับคนไทยที่ซาอุดีอาระเบีย ,ไซปรัส อียิปต์ และจอร์แดน
ขณะที่ นายศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ สำหรับเส้นทางอพยพโดยมองว่าตัวเลือกที่เหมาะสม ณ ตอนนี้ น่าจะเป็นประเทศจอร์แดน
แต่การจะไปถึงจอร์แดนได้ก็คงจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากบริเวณฉนวนกาซาและจอร์แดน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่คนไทยไปทำงานอยู่คือทางตอนใต้ ตามคิปบุตส์ หรือโมชาฟ ซึ่งเป็นนิคมเกษตรกรรม
ดังนั้น หากคนไทยเหล่านี้จะต้องไปที่กรุงเทลอาวีฟ จะต้องเดินทางไกลประมาณ 100 กม.ทางรถยนต์ หรือ ถ้าเดินทางจากโอฟาคิม ก็ห่างจากเทลอาวีฟเกือบ 120 กม. จากเทฟอาวีฟก็ต้องเดินทางต่อไปยังจอร์แดน ซึ่งก็น่าจะเป็นที่อัมมาน เมืองหลวง เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับไทย เส้นทางนี้ทางบกประมาณ 160 กม. ใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 3 ชม.
หากพิจารณาถึงไซปรัส และซาอุดีอาระเบีย หรืออียิปต์ ก็จะยิ่งมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าไปที่ไซปรัส หมายความว่าต้องมีเที่ยวบินจากเทลอาวีฟไปส่ง หรือต้องนั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และที่ไซปรัสไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงนิโคเซีย แต่มีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐไซปรัสอยู่
ส่วนซาอุดีอาระเบีย แม้จะมีทั้งสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงริยาร์ด และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ แต่การเดินทางอาจยากขึ้นอีกหรือไม่? เพราะหากเดินทางไปทางบกจะต้องผ่านตอนใต้ของอิสราเอล
หากไม่ข้ามเข้าจอร์แดนในเส้นทางทางบกก่อน ก็จะต้องลงเรือลงที่อ่าว อัล อะเกาะบะฮ์ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่าจะไปถึงเจดดาห์ และถ้ามาทางอียิปต์ ก็จะมีความเสี่ยงเพราะต้องผ่านตอนใต้ของอิสราเอลอีก และเส้นทางค่อนข้างไกลมากกว่าจะไปถึงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กต.เผย "แรงงานไทย" ในอิสราเอล ตาย 18 คน แจ้งขอกลับ 3,000 คน
"ฮามาส" เปิดทางเจรจาหวังหยุดยิงกับอิสราเอล