ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แม่น้ำไหลกั้น "ไทยสยาม" สายสัมพันธ์ไม่เปลี่ยน

ภูมิภาค
10 ต.ค. 66
11:20
1,112
Logo Thai PBS
แม่น้ำไหลกั้น "ไทยสยาม" สายสัมพันธ์ไม่เปลี่ยน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลวงตาชม สัปปัญโญ วัย 69 ปี นั่งอ่านหนังสือสอบเปรียญธรรมชั้นตรี ฉบับภาษาไทย อยู่ที่โต๊ะหินอ่อนใต้ร่มไม้ ภายในวัดบางแซะ หรือ วัดอุตตมาราม ซึ่งมีโบสถ์เก่าแก่รูปทรงจตุรมุข ทรงครุฑหน้าบันตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า สภาพพื้นที่โดยทั่วไป หากไม่มีแม่น้ำสุไหง-โกลก แบ่งเขตแดน วัดแห่งนี้ก็ไม่ต่างจากวัดไทยทั่วไป

หลวงตาชม สัปปัญโญ

หลวงตาชม สัปปัญโญ

หลวงตาชม สัปปัญโญ

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า วัดบางแซะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2409 ขณะที่เมืองกลันตันยังเป็นประเทศราชของสยามซึ่งตรงกับ รัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และหากนับถึงปี พ.ศ.2566 วัดอุตตมาราม หรือ วัดบางแซะ มีอายุยาวนานถึง 157 ปีแล้ว ถือเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของคนไทยสยามในเขตตุมปัต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

วัดอุตตมาราม รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

วัดอุตตมาราม รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

วัดอุตตมาราม รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

ชาวโอรังเซียม หรือ "คนสยาม" เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายไทยที่นับถือศาสนาพุทธเฉพาะในกลันตัน มีคนเชื้อสายไทยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะที่ อำเภอตุมปัต ซึ่งพระครูสุวรรณนุกูล เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม รัฐกลันตัน เคยบอกในรายการประวัติศาสตร์นอกตำราว่า ที่นี่เป็นจุดศูนย์รวมของคนไทยสยามดั้งเดิม

คนสยาม คือคนไทยดั้งเดิมที่อยู่ที่นี่ แต่เมื่อมีการแยกประเทศในครั้งนั้น เราก็ติดแผ่นดินอยู่ที่นี่

และชุมชนชาวสยามหมู่บ้านบางแซะ ก็เป็นชุมชนไทยแห่งหนึ่งที่อพยพมาจากบ้านตอเป็ง พื้นที่ด้านนี้มีแม่น้ำสุไหงเลอมาล ไหลผ่าน จึงทำให้แผ่นดินถูกน้ำไหลกัดเซาะ บริเวณวัดมีพื้นที่กว้างขวาง มีกุฏิพระ โรงเรียนสอนภาษาไทยให้กับเด็กไทยสยามในทุกๆ วันศุกร์-เสาร์ มีหอระฆัง ศาลา บริเวณด้านหน้าวัดมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ หลวงพ่อครัน ปุณณ์สุวรรณโณ ประดิษ ฐานอยู่

หลวงตาชม เล่าว่า เกิดมาบนผืนดินแห่งนี้ก็เจอวัดแล้ว บรรพบุรุษของตัวเองเป็นคนเซียม หรือสยาม ทุกคนที่เกิดที่นี่จะมีบัตรประชาชนระบุชัดเจนว่า นับถือศาสนาพุทธเชื้อชาติมาเลเซีย-เซียม หรือ สยาม มีประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรม เหมือนคนไทยฝั่งประเทศไทยทุกอย่าง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ ดั้งเดิมมียังมีอาชีพทำนา ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ช่างปูน ปลูกผัก แต่ปัจจุบัน เด็กๆ รุ่นหลังไม่มีใครทำอาชีพนี้ ได้เรียนหนังสือ มีอาชีพรับราชการ ช่างไฟฟ้าช่างโทรศัพท์ แม้จะพูดภาษาไทยได้ แต่อ่านหนังสือไทยไม่ออก เมื่อมีอายุครบบวช ก็ไม่ได้บวชเรียนเหมือนยุคก่อน

หลวงตาชม บอกว่า ทุกครั้งที่เจอคนไทย มีความรู้สึกเหมือนเป็นพี่น้องเป็นสายเลือดเดียวกัน เพียงแต่อยู่กันคนละแห่ง ถ้าเป็นคนไทยต้องอยู่ฝั่งประเทศไทย แต่อยู่ฝั่งนี้ ก็เป็นชาวไทยสยาม อย่างไรก็คือ ชาติไทย

เวลาข้ามไปจำวัดที่ฝั่งไทย ก็จะได้รับการดูแลดี ไม่ต่างจากพระไทย ญาติโยมให้ความเคารพนับถือดี เวลามีงานกฐิน ผ้าป่า ก็ข้ามมาทำบุญเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
หลวงตาชม สัปปัญโญ

หลวงตาชม สัปปัญโญ

หลวงตาชม สัปปัญโญ

หลวงตาชม เล่าว่า ในรัฐกลันตัน มีวัดไทยถึง 21 วัด เพราะเป็นเขตที่มีคนไทยสยามอาศัยอยู่จำนวนมาก และแม้จะอยู่ฝั่งมาเลเซีย แต่คนสยามที่นี่ยังมีญาติพี่น้องทางพ่อและแม่ อยู่ทางฝั่งไทย ไปมาหาสู่กันเสมอ

เดือนมีนาคม 2567 หลวงตาชม จะเข้าสู่สนามสอบเปรียญธรรมชั้นตรี ที่วัดพิกุลทองวราราม วัดใหญ่ที่สุดแห่งในกลันตัน แม้จะสูงวัยแล้ว แต่ความตั้งใจในการสืบทอดพระศาสนา ไม่เคยเปลี่ยน

ถ้าจะสอบให้เป็นพระมหา ก็จะต้องสอบเลื่อนระดับต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องไปสอบที่เมืองบางกอก หลวงตาก็จะอ่านหนังสือเตรียมตัวให้พร้อมไปเรื่อยๆ ตอนนี้ในแต่ละวัดเหลือพระจำพรรษาน้อยลงแล้ว คนไทยสยามยังอยู่ พระและวัด ก็ต้องยังอยู่เหมือนเดิม
ป้วน บุญประกอบ วัย 60 ปี ชาวไทยสยาม

ป้วน บุญประกอบ วัย 60 ปี ชาวไทยสยาม

ป้วน บุญประกอบ วัย 60 ปี ชาวไทยสยาม

ไม่ต่างจาก ป้วน บุญประกอบ วัย 60 ปี ชาวไทยสยามจากหมู่บ้านกัมปงดารัน ซึ่งที่มีอาชีพขายผักอยู่ที่ตลาดสดซีตีกอดิเยาะห์ เขตโกตาบารูห์ เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ทุกๆ วัน เขาและ ป้อม น้องสาวจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้าเพื่อมาจัดแผงผักสด นานาชนิด ทั้งจากฝั่งไทย เวียดนาม และมาเลเซียมาขายให้ลูกค้า

แผงขายผักในตลาดสดแห่งนี้ มีเจ้าของแผงเป็นชาวไทยสยาม ประมาณ 10 ราย จากรัฐกลันตัน ผักที่นำเข้าจากไทย มีทั้งผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักชี พริก มะระ ส่วน ตะไคร้ ใบมะกรูด กลุ่มพืชสมุนไพรนำเข้าจากเวียดนาม ส่วนมะนาว กะหล่ำปลี ไม่ต้องนำเข้า ขายราคาไม่แพง เพราะเป็นผลผลิตภายในประเทศ

"เครื่องปรุงรส นำเข้ามาจากฝั่งไทย ราคาที่นี่จะสูงมาก เพราะต้องเสียภาษีนำเข้า ของฝั่งไทยอร่อย แซ่บ คนมาเลเซียจะชอบมาก …อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เราก็รู้ว่าตัวเองเป็นคนไทยสยาม ที่ตลาดนี่ เราขายได้เฉพาะผัก เราเป็นคนพุทธ ไปขายปลา เนื้อไก่ ไม่ได้ เขาไม่ซื้อ คนมาเลย์มุสลิมก็จะซื้อกับร้านมุสลิมด้วยกัน แต่เขาก็ซื้อผักกับเรา"

ปวนกับป้อม เล่าว่า อาชีพทำนา ทำสวนยาง ปลูกทุเรียน ของคนไทยสยามยังมีอยู่ แต่ลดจำนวนลง โดยเฉพาะการทำนา จะมีนายทุนมาเช่าพื้นที่ทำนาปลูกข้าว เจ้าของนาเดิมก็ได้ค่าเช่าไป ส่วนเด็กๆ คนรุ่นใหม่ จะนิยมสอบเข้ารับราชการ เป็นตำรวจ ศุลกากร ทำงานบริษัทกันมากขึ้น

"เราได้รับสิทธิเหมือนประชากรมาเลเซียทุกอย่าง ต่างเพียงนับถือศาสนาพุทธ มีสัญชาติมาเลย์-เซียม หรือสยาม คนมาเลย์ฯ เขาก็เรียก เป็นคนไทยสยาม เราพูดภาษาไทย มาเลย์และยาวี ได้ ยังข้ามไปมาที่ฝั่งไทยสุไหง-โกลก มีญาติอยู่ จ.ปัตตานี บางครั้ง แม่เขาก็จะรวมกลุ่มกัน จัดทัวร์ข้ามไปเที่ยวจังหวัดต่างไปในไทย แต่ไม่เคยไปถึงเมืองบางกอกเลย"

เป็นเสียงจากใจของคนไทยสยาม ในมาเลเซียที่ดังข้ามมาถึงฝั่งไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เสียงชาวบ้านมูโนะ "ค่าของคน" คนของใคร

ขนมโบราณ 100 ปี "ตลาดยะกัง" ดินแดนปลายด้ามขวาน

เสน่ห์เมืองไทย ชาวมาเลเซียติดใจขึ้นแท่นนักท่องเที่ยวอันดับ 1

"ชาวสยาม" เมื่อคนไทยคือกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง