ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ร้านต้มยำ" โอกาสแรงงานไทย ในมาเลเซีย

สังคม
7 ต.ค. 66
12:39
1,336
Logo Thai PBS
"ร้านต้มยำ" โอกาสแรงงานไทย ในมาเลเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ต้มยำ" หนึ่งในเมนูอาหารไทยยอดนิยมจากคนทั่วโลก รวมถึงคนมาเลเซีย ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน มีความเผ็ดร้อน ผสมกับรสเค็ม เปรี้ยว และหวาน อย่างลงตัว และส่วนประกอบจากสมุนไพรไทยบ้างชนิดที่ชูให้รสชาติโดดเด่น ทั้ง ข่า ตะไคร่ ใบมะกรูด พริกสด มะนาว น้ำปลา ซึ่งต้มยำทั้งแบบน้ำใสหรือแบบน้ำข้นแบบที่ใส่นมสด ทำติดใจใครหลาย ๆ คน

และด้วยความจัดจ้านแตกต่างจากอาหารในท้องถิ่น จึงเป็นที่นิยมของชาวมาเลเซีย ปัจจุบันเมนูอาหาร "ต้มยำ" หารับประทานได้ทั่วไปที่ "ร้านอาหารต้มยำ" ซึ่งเป็นคำเรียกร้านอาหารไทยฮาลาลในมาเลเซีย โดยเฉพาะในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ร้านอาหารต้มยำและเมนูตำยำ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒธรรมการบริโภคไปแล้ว ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารเฟื่องฟูอย่างมาก

ร้านต้มยำมีเจ้าของเป็นคนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่จำนวนมาก โดยเปิดกระจายอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ลูกค้าจะเรียกชื่อร้านว่า ร้านอาหารต้มยำ มากกว่าร้านอาหารไทย ขณะที่ ร้านอาหารคนมุสลิมในไทยถูกเรียกว่า "ร้านอาหารอิสลาม" ซึ่งหมายถึง "ร้านอาหารของคนมุสลิม"

อาหารมาเลเซีย ได้รับอิทธิพลจากหลายวัฒนธรรม อิทธิพลหลักมาจากชาวมลายู ชาวจีน และชาวอินเดีย อาหารมาเลเซียจึงมีความหลากหลายมาก

ร้านอาหารต้มยำร้านแรก ๆ ของกัวลาลัมเปอร์ เปิดกิจการเมื่อประมาณปี 1970 โดยหมัด ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายไทย จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งในเวลานั้นไม่มีกิจการร้านอาหารไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะที่อาหารไทยแตกต่างจากอาหารพื้นเมืองมาเลเซีย 

และอาหารของร้านนายหมัด เป็นอาหารตามสั่งที่ปรุงและบริการตามความต้องการของลูกค้า การที่อาหารไทยมีการปรุงใหม่และร้อน จึงได้รับความนิยมของคนเชื้อสายมลายูสัญชาติมาเลเซียอย่างมาก เมื่อร้านอาหารของนายหมัดประสบความสำเร็จจึงได้ชักชวนญาติมาทำงานด้วย รวมถึงได้ขยายกิจการ และเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้น

ข้อมูลปี 2565 พบว่ามีเครือข่ายร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย จำนวนกว่า 5,000 ร้าน และสามารถสร้างยอดขายโดยรวมได้กว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารไปจำหน่ายกว่า 50% เป็นวัตถุดิบที่นำเข้าจากเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้ข้อมูลว่า มีคนไทยที่ไปทำงานในมาเลเซีย ราว 200,000 คน มีทั้งแรงงานที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในร้านอาหารต้มยำ 

แรงงานต้มยำกุ้งเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งตลาดแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียกำลังเติบโต เป็นที่นิยมของประชาชนในมาเลเซีย

สาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยย้ายถิ่นฐานไปทำงานในมาเลเซีย เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานประเภทเดียวกันในประเทศไทย ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานดีขึ้น มีรายได้ส่งกลับให้ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ ไม่มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการเดินทางตามกฎหมาย ซึ่งกลุ่มธุรกิจเเละแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ , กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, ศอ.บต.

ติดตาม ไทยพีบีเอสสัญจร “เปิดเมืองนราธิวาส ฟื้นชีวิตมูโนะ” วันที่ 6-12 ต.ค. 66 ทุกช่องทางไทยพีบีเอส และ https://www.thaipbs.or.th/news/focus/ReviveMuno

อ่านข่าวอื่น ๆ 

เปิดปม : ต้มยำกุ้งอพยพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง