ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดศึก! วิวาทะหมอกควันข้ามแดน มาเลเซีย-อินโดนีเซีย

ต่างประเทศ
5 ต.ค. 66
11:55
904
Logo Thai PBS
เปิดศึก! วิวาทะหมอกควันข้ามแดน มาเลเซีย-อินโดนีเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ว่าสถานการณ์หมอกควันในมาเลเซียจะเริ่มดีขึ้น เมื่อเทียบกับหลายวันก่อน จากอิทธิพลของฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่คำถามถึงการแก้ปัญหาระยะยาวยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

จะรอพึ่งพิงฟ้าฝนอย่างเดียวคงไม่ไหว แม้ว่ามลพิษจะลดลงแล้วเมื่อเทียบกับช่วงต้นสัปดาห์ แต่การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าข้ามแดนยังถือว่าเป็นโจทย์ที่อาเซียนตีไม่แตกมานานมากแล้ว

เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้วที่พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง อาเซียนมักจะเจอปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มักจะมีปัญหาขัดแย้งกัน โดยฝั่งมาเลเซียระบุว่าหมอกควันเกิดจากไฟป่าที่ในอินโดนีเซียเผาถางป่าเพื่อทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะตอนกลางและตอนใต้ของเกาะกาลิมันตัน ขณะที่อินโดนีเซียยืนกรานว่าควันไฟไม่ได้ข้ามพรมแดน หรือการเผาถางป่า เกิดขึ้นในพื้นที่ที่บริษัทจากมาเลเซียเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนเช่นกัน

แผนที่ระบบจัดการดัชนีมลพิษทางอากาศของมาเลเซีย แสดงให้เห็นสถานการณ์ล่าสุดในมาเลเซียเช้านี้ (5 ต.ค.2566) ที่ยังมีจุดสีเหลืองอยู่เพียงไม่กี่จุด ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังไม่ถึงขั้นอันตรายร้ายแรง โดยหลงเหลือเพียงในรัฐโจโฮร์ ส่วนที่เหลืออยู่ในเกณฑ์ปกติ

แผนที่ระบบจัดการดัชนีมลพิษทางอากาศของมาเลเซีย

แผนที่ระบบจัดการดัชนีมลพิษทางอากาศของมาเลเซีย

แผนที่ระบบจัดการดัชนีมลพิษทางอากาศของมาเลเซีย

ก่อนที่ค่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้นได้แบบนี้ ทางการมาเลเซียเริ่มใช้แผนปฏิบัติการรับมือมลพิษมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. พร้อมยกระดับการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจตราการเผาถางป่า และยังส่งสัญญาณเตรียมมองลู่ทางการทำฝนเทียม เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ หากดัชนีมลพิษสูงเกิน 150 ต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง

มาเลเซียเองมีกฎหมายป้องกันเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยพระราชบัญญัติคุณภาพอากาศ ปี 1974 กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดการเผาขยะในที่เปิดโดยไม่มีการควบคุม จะต้องระวังโทษปรับสูงสุด 500,000 ริงกิต หรือประมาณ 3,900,000 บาท หรือจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

กลไกมาเลเซียรับมือมลพิษ

กลไกมาเลเซียรับมือมลพิษ

กลไกมาเลเซียรับมือมลพิษ

ขณะที่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเลเซีย เปิดเผยแผนการผลักดันให้ภาคเอกชนที่ลงทุนด้านเกษตรกรรมในอินโดนีเซีย ให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวังปัญหานี้ ผ่านกลไกการกำกับดูแล โดยให้บริษัทที่ทำธุรกิจเหล่านี้ ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าได้ทำกิจกรรมอะไรไปบ้างและมีมาตรการอะไรเพื่อป้องกันปัญหาไฟป่าบ้าง

เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่ไปถึงขั้นเอาผิดบริษัทสัญชาติมาเลเซีย
ที่มีส่วนในการเผาถางป่าในธุรกิจร่วมลงทุนที่อินโดนีเซียได้

ทางการมาเลเซียเน้นย้ำว่าต้องการเห็นมาตรการเหล่านี้ มีส่วนในการแก้ปัญหาสำหรับระดับภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน เพราะหมอกควันไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง และเวลานี้ปัญหากลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งในรอบกว่า 3 ปี หลังพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19

ล่าสุดนิค นาซมี นิค อาห์มัด รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเลเซีย เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือถึงซีตี นูร์บายา บาการ์ รมว.สิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีปัญหาหมอกควันเพิ่มเติมแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ รมว.สิ่งแวดล้อมมาเลเซียเน้นย้ำ คือ ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ลงนามในข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ปี 2002 ซึ่งเป็นข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และจริงๆ อาเซียนเองก็มีหลายกลไกสำหรับใช้แก้ไขปัญหานี้มานานหลายสิบปี และยังมีความคืบหน้าล่าสุดเพียงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง

เพราะประเทศสมาชิกต่างตระหนักดีว่าความเสียหายจากปัญหาหมอกควัน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่สูญเสียไปจากผลกระทบต่อการท่องเที่ยวก็คิดเป็นมูลค่ามหาศาล ยังไม่นับถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและภาพลักษณ์ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน

กลไกอาเซียนรับมือหมอกควัน

กลไกอาเซียนรับมือหมอกควัน

กลไกอาเซียนรับมือหมอกควัน

แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละประเทศยังคงเน้นรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญและข้อตกลงก็ไม่ได้มีผลผูกพันมากเพียงพอที่จะบีบบังคับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ซึ่งนี่คงจะเป็นโจทย์สำคัญที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องร่วมกันไขปัญหาให้ได้ต่อไป

วิเคราะห์โดย : วินิจฐา จิตร์กรี

อ่านข่าวอื่น :

"กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ" สส.ประชาชาติ นั่ง ประธาน กมธ.กฎหมาย

ตั้งกก.สอบครูทำร้ายนักเรียนชาย ม.2 ล็อกคอตกเก้าอี้

น้ำท่วมอินเดีย เสียชีวิต 10 คน สูญหาย 82 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง