กรณีเยาวชนชาย 14 ปีก่อเหตุยิงในห้างพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 5 คน และพบ 2 คนบาดเจ็บสาหัส 2 คน เนื่องจากผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชน จึงมีกฎหมายที่แตกต่างกับการใช้ดำเนินคดีกับผู้ใหญ่
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เผยถึงแนวทางการดำเนินคดีกับ เด็กชายอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างว่า พนักงานสอบสวนต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชน ส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมก่อนว่า มีการจับกุมเด็กหรือเยาวชน รวมถึงมีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายหรือไม่
ตามกระบวนการจับกุมเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย พนักงานสอบสวน ควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนนำตัวมาส่งศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจควบคู่กับการตรวจสอบรายงานการจับกุมจากพนักงานสอบสวน ที่ส่งมา เพื่อพิจารณาพฤติการณ์ของเด็ก เช่น เด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน, สภาพทางจิตใจ, การรักษาพยาบาลทางจิต รวมถึงการดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กที่ก่อเหตุหรือไม่
พ่อแม่ผิดมาตรา 429 กฎหมายแพ่ง
ส่วนกรณีของเด็กที่มีอาการป่วยทางจิต หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กไม่ได้อาจจะให้องค์กร หรือหน่วยงาน ที่ดูแลด้านเด็กเข้ามาดูแลแทน
ส่วนพ่อแม่ ของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่าไม่ได้มีส่วนผิด
อ่านข่าว จับเยาวชนวัย 14 ปี "มือปืนยิงในพารากอน" ตาย 3 คน
เปิดประมวลกฎหมายอาญาคดีเยาวชนก่อเหตุ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบประมวลอาญามาตรา มาตรา 74 ซึ่งเพจนักเรียนเผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2565 บัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 73 วรรคหนึ่ง และมาตรา 74 ดังนี้
- มาตรา 73 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ"
(มาตรา 73 วรรคหนึ่ง ใหม่ เป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุเด็ก จากเดิมบัญญัติให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นอายุไม่เกิน 12 ปี)
- มาตรา 74 บัญญัติว่า "เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1.) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
(2.) ถ้าศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้น ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น แต่ถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
อ่านข่าว ผบ.ตร.เผยเด็ก 14 ปีมีประวัติรักษาจิตเวช ตร.ตรวจบ้านหาหลักฐานเพิ่ม
และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ มาสอบถามว่าจะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดา มารดา หรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
(3) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้น เพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้น ให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้"
หมายเหตุ (มาตรา 74 ใหม่ หลักการคงเดิม โดยวรรคหนึ่งเป็นการแก้ไขเกณฑ์อายุให้สอดคล้องกับมาตรา 73 ส่วน (3) ปรับถ้อยคำจาก ส่งเด็กไปยังโรงเรียน เป็นส่งเด็กไปยังสถานศึกษา)
อ่านข่าว ระทึก! เสียงดังคล้ายปืนสนั่นห้างกลางกรุง ยังไม่ทราบสาเหตุ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.บัญชาการในคืนเกิดเหตุยิงในห้าง
เด็กมัธยมกระทำผิด 6,306 คดี
ขณะที่ข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รายงานการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564-30 ก.ย.2565) รายงานว่ามีคดีอาญาที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดเข้าสู่สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 12,195 คดี แบ่งเป็นเพศชาย 11,032 คดี คิดเป็น 90.49% และเพศหญิง 1,160 คดี คิดเป็น 9.51%
ข้อมูล ระบุว่า คดีส่วนใหญ่ ผู้กระทำความผิดมีการศึกษาระดับมัธยมมากสุดจำนวน 6,306 คดี คิดเป็น 51.72%ของคดีทั้งหมด รองลงมาเป็นระดับประถม 2,142 คดี คิดเป็น 17.57% นอกจากนั้นเป็นระดับการศึกษานอกระบบ 1,218 คดี
แต่หากพิจารณาฐานความผิด พบว่าคดีส่วยใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมากสุด 4,885 คดี คิดเป็น 40%ของคดีทั้งหมด รองลงมาความผิดอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางยกพ.ศ.2522 และพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 นอกจากนั้นคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 1,828 คดี
อ่านข่าว
จิตแพทย์เด็ก แนะหยุดส่งต่อความเกลียดชัง หยุดพฤติกรรมเลียนแบบ