ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเบื้องหลังคดี "บิลลี่" บันทึกความทรงจำ ทนาย-นักข่าว

อาชญากรรม
29 ก.ย. 66
15:46
1,135
Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลังคดี "บิลลี่" บันทึกความทรงจำ ทนาย-นักข่าว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับจากวันที่ "บิลลี่ หายตัว" แก่งกระจานก็อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ด้วยความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่เขาควบคุมตัว "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแกนนำต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิทำกินในป่าแก่งกระจาน ฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่ไม่ส่งมอบตัวให้ตำรวจตามขั้นตอน และ บิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่วันนั้น ... วันที่ 17 เม.ย.2557

อ่าน : “ชัยวัฒน์” ได้ประกัน ม.157 “คดีบิลลี่” จ่ออุทธรณ์

3 ก.ย.2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกของมนุษย์ อยู่ก้นถังขนาด 200 ลิตร ที่ผ่านความร้อนมากกว่า 200 องศาเซลเซียส ที่ใต้สะพานแขวนข้ามแอ่งน้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงผลการตรวจ "ไมโตรคอนเดรีย DNA" ยืนยันว่า เป็นชิ้นส่วนกะโหลกของ "บิลลี่" เพราะมีสาย DNA ตรงกับมารดา นำไปสู่การเดินหน้าหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม จนกระทั่งดีเอสไอแจ้งหลายข้อหาหนักกับนายชัยวัฒน์และพวก รวมถึงข้อหา กักขังหน่วงเหนี่ยวจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ศาลชั้นต้นพิพากษา "ยกฟ้อง" ข้อหาหนักเหล่านี้ เพราะไม่มีพยานหลักฐาน

พิพากษาจำคุกเฉพาะข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมระบุว่า พบข้อพิรุธในคำให้การหลายจุดในวันที่บิลลี่หายตัวไป

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 17 เม.ย.2557 .... ย้อนเวลากลับไป ผ่านความทรงจำของทีมทนายความ และนักข่าวที่ติดตามปัญหาความขัดแย้งในบ้านบางกลอย ป่าแก่งกระจาน มาตั้งแต่ปี 2554

17 เม.ย.2557

"วันนั้นเรามีนัดกับบิลลี่ ที่ห้างแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี เพื่อจะคุยเตรียมการกันเกี่ยวกับการไปขึ้นศาล ในคดีที่เราฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานมาเผาบ้าน แต่รอจนถึงประมาณ 4 โมงเย็นแล้ว บิลลี่ก็ยังไม่มา เราก็เริ่มแปลกใจ และพอดีผู้ใหญ่บ้านที่บางกลอย โทรมาถามเราว่าเจอบิลลี่ไหม เพราะเขาก็มีนัดกับบิลลี่เหมือนกัน แต่ ณ วันนั้น เราก็ยังไม่คิดว่าบิลลี่หายไปนะ"
ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความฯ

ทิพย์วิมล หรือ ตาล คือหนึ่งในทีมทนายความคดีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จากเหตุการณ์เมื่อปี 2554 หน้าที่ของตาล คือ การเป็นผู้ประสานงานระหว่างทีมทนายกับผู้ฟ้องคดี คือ ปู่คออี้ หรือ นายอิ มีมิ ผู้นำชาวกะเหรี่ยงวัยกว่า 100 ปี และชาวบ้านบางกลอย

ตาล จึงเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยง และได้พูดคุยกับบิลลี่มากที่สุด เพราะขณะที่ตาลเป็นผู้ประสานฝั่งทนายความ บิลลี่ ที่เป็นหลานชายโดยตรงของปู่คออี้ ก็มีสถานะเป็นเหมือนทั้งตัวแทนของปู่คออี้ และเป็นคนประสานแทนชาวบ้านคนอื่นๆทั้งหมดด้วย เนื่องจากเขาเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อ่านและเขียนภาษาไทยได้ เพราะเรียนจบชั้น ม.6 มาจากโรงเรียนป่าเด็งวิทยา

"บิลลี่ เป็นคนช่างพูด ช่างถาม วันที่เขาหายไปเรายังไม่ได้คิดถึงการถูกอุ้มหาย เราคิดว่าเขาอาจจะไปภารกิจอะไรสักอย่าง จนผ่านไปประมาณ 3 วัน มึนอ (ภรรยาของบิลลี่) ก็มาบอกเราว่า พี่บิลลี่เคยพูดไว้ว่า เขามีโอกาสที่จะหายตัวไปนะ เราเลยมาคิดย้อนหลังไปดู จึงจำได้ว่า บิลลี่เคยพูดไว้กับเราเหมือนกัน เป็นข้อความเดียวกันเลย เขาบอกไว้ว่า ให้ทุกคนรู้ไว้นะว่า ถ้าเขาหายไป เขาไม่มีศัตรูที่ไหน เขามีความขัดแย้งอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยในป่า" ทนายตาล เล่าความหลังเมื่อปี 2557

พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการอยู่อาศัย ตามวิถีดั้งเดิมที่ป่าแก่งกระจาน หลังเกิด "ยุทธการตะนาวศรี" ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้าไปขับไล่ชาวกะเหรี่ยงที่กลับเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าบริเวณที่เรียกว่า "บางกลอยบน" เมื่อปี 2554 เพราะไม่สามารถทำกินบนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรไว้ให้ได้ โดยการขับไล่ พบหลักฐานการเผาบ้าน และตั้งข้อหารุนแรง อยู่ในรายงานที่ทางอุทยานฯ นำเสนอในที่ประชุมจังหวัดเพชรบุรี

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ บิลลี่ หลานชายของปู่คออี้ ผู้นำชาวกะเหรี่ยง ได้เข้ามาทำหน้าที่ผู้ประสานงาน เป็นล่ามระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับทีมทนายและองค์กรภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลชุมชน ทำแผนผังต้นตระกูล จัดทำแผนที่ชุมชนย้อนหลังไปในอดีต ซึ่งต่อมาถูกใช้เป็นหลักฐานที่ส่งให้ศาลปกครองพิจารณา

จนกระทั่งบิลลี่มาหายตัวไปในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายทัศน์กมล โอบอ้อม นักการเมืองท้องถิ่นที่ออกมาเปิดเผยถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในป่าแก่งกระจาน ถูกยิงเสียชีวิตปริศนามาก่อนหน้านั้นแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับคดี "บิลลี่"

"วันนั้นเราอยู่บ้านที่ จ.พัทลุง ประมาณสัก 6 โมงเย็น มีโทรศัพท์มาบอกว่า บิลลี่ลงมาจากบ้านบางกลอยแล้วหายไป .... พอเรากลับมา ก็พบว่า เราทำอะไรกับคดีบิลลี่แทบไม่ได้เลยในช่วงแรก"
วราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากปู่คออี้ในคดีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

วราภรณ์ หรือ แป๋ม เป็นทนายคู่กับ ตาล ในคดีของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน แป๋มมีหน้าที่ทำคำฟ้อง ประสานกับองค์กรอื่นๆ ในการทำคดี แต่ในช่วงแรกที่บิลลี่หายตัวไป ก็ต้องมาทำคดีของบิลลี่ก่อน แต่เธอก็พบว่า แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยในคดีคนหาย

ปี 2557 ยังไม่มีกฎหมายป้องกันการสูญหาย จึงแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย บิลลี่หายไปอาทิตย์หนึ่งแล้ว ทำได้เพียงแค่แจ้งความคนหาย และมาติดตามการทำงานของทางตำรวจ เพราะไม่มีทั้งพยานและหลักฐานอะไรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ถามใครก็บอกว่า ไม่รู้ ไม่เห็น เหมือนทุกคนไม่กล้าที่จะพูดอะไรออกมา

ส่วนทนายตาล ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า บรรยากาศในพื้นที่แก่งกระจานเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ทีมทนายความแทบไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยไม่ว่าจากฝ่ายไหน แม้แต่จากชาวบ้านเอง ในช่วงแรกทีมทนายไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ก่อนที่บิลลี่จะหายตัวไป เขาถูกควบคุมตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพราะมีน้ำผึ้งป่าในครอบครอง

แม้แต่เรื่องน้ำผึ้ง เราก็มาเพิ่งมารู้ทีหลัง ก่อนหน้านั้นทางเจ้าหน้าที่เขาเปิดเผยเองว่า เขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริงในวันที่ 17 เม.ย.2557 เพราะมีน้ำผึ้งป่า 3-4 ขวด และปล่อยตัวไปแล้ว เราจึงจัดงานกัน จนเราจัดงานในวันที่บิลลี่หายไปครบ 30 วัน เราถึงเพิ่งได้ข้อมูลว่า บิลลี่นำน้ำผึ้งลงมาจากบางกลอยมากกว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่อุทยานบอกไว้ ทั้งที่ นี่เป็นจุดที่สำคัญต่อการตามหาตัวบิลลี่มากเลย

เพราะถ้าเรารู้เร็วกว่านี้ว่าบิลลี่นำน้ำผึ้งลงมาเยอะ ถูกจับกุมที่ไหน การเริ่มต้นติดตามก็จะง่ายขึ้นมาก แต่เรามารู้ในตอนที่การติดตามทำได้ยากแล้ว ... มันสะท้อนว่า ชาวบ้านเขาไม่กล้าบอกเรานะ เพราะเขาอยู่ที่นั่น ย้ายไปไหนไม่ได้ ทนายตาล อธิบายถึงบรรยากาศในแก่งกระจาน ที่ทำให้การตามหาบิลลี่ แทบไม่เป็นผล

เสนอข่าว "บิลลี่หาย" แทบไม่มีความคืบหน้า

"พอเราได้ข้อมูลจากชาวบ้านว่าบิลลี่หายไป ทีแรกเราคิดว่าอาจประสบอุบัติเหตุหรือเปล่า แต่ผ่านไปหลายวันก็ไม่มีร่องรอยอะไรเลย จึงคิดว่า หายไปแน่ๆ แล้ว ... แต่เราแทบไม่ได้ข้อมูลอะไรมาส่งข่าวเลย ไม่ว่าจากฝ่ายไหน"
รังสี ลิมปิโชติกุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค นสพ.เดลินิวส์ กล่าว

รังสี หรือ หนุ่ม เป็นหนึ่งในนักข่าวไม่กี่คนที่ค้นพบ เหตุการณ์เผาบ้านชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน และเสนอข่าวควบคู่มากับทีมข่าวของ Thai PBS และแม้ว่าในฐานะผู้เปิดประเด็นจะทำให้ "หนุ่ม" ได้รับความไว้วางใจจากชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมาตลอดเกือบ 3 ปี แต่หลังจากที่บิลลี่หายตัวไป หนุ่มก็พบว่า เขาแทบไม่ได้ข้อมูลจากใครเลย

ทำข่าวมาเกือบ 20 ปี ทำประเด็นใหญ่ๆ มาเยอะ เรื่องผู้มีอิทธิพล คดีฆาตกรรมก็ทำมาหมด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราต้องทำข่าว "คนหาย" ซึ่งเรากลับพบว่ามันยากมากๆ เพราะคนที่หาย เป็นคนที่เราเคยประสานข้อมูลด้วยมาตลอด เป็นคนที่เคยเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านคนอื่นๆ พอคนๆ นี้หายไป เราจึงเห็นได้เลยว่า คนอื่นๆ ไม่มีใครอยากพูดอะไร นั่นทำให้เราไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐาน ไม่มีพยานบุคคลที่จะมาช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวได้ หนุ่ม เล่าเหตุการณ์ที่ไม่แตกต่างจากทนายความทั้ง 2 คน

อ่าน : The Last Karen : กะเหรี่ยงรุ่นสุดท้าย

คดี "เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน" หลัง "บิลลี่ไม่อยู่"

"ทุกอย่างลำบากไปหมด ตั้งแต่การเดินทาง การประสานงาน คนแปลภาษา การเตรียมเอกสาร จะคุยอะไรกับใครเราก็ต้องระวังไปหมด แม้แต่ทีมของตำรวจที่เข้ามาเก็บหลักฐาน ก็เพิ่งมาหลังบิลลี่หายไปแล้วถึง 3 เดือน" ทนายตาล ทิพย์วิมล

"บิลลี่ เป็นคนประสานระหว่างเรากับคนข้างใน พอไม่มีบิลลี่เราต้องมาหาคนประสานใหม่ ซึ่งหายากมาก เพราะอย่าลืมว่า คนเดิมถูกทำให้หายไป" ทนายแป๋ม วราภรณ์

"เราเข้าถึงข้อมูลยากขึ้นมาก ยิ่งเราเป็นนักข่าว รู้สึกได้เลยว่า ทั้งชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น หรือแม้แต่ตำรวจ ก็มีกำแพงหนาขึ้น บอกได้ว่า ทั้งแก่งกระจานอยู่ในความมืด" นักข่าว หนุ่ม รังสี

นี่คือเรื่องราวบันทึกความทรงจำของ 2 ทนายความ กับ 1 นักข่าว ที่อยู่ใกล้ชิดกับการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบ้ายบางกลอย และใกล้ชิดกับบิลลี่มากที่สุด ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า การหายตัวไปของบิลลี่ มีผลอย่างมากมายมหาศาลกับการต่อสู้ทางกฎหมายของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในเวลาต่อมา เพราะบิลลี่ ถือเป็นคนกลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับทีมกฎหมายที่เข้ามาช่วยเหลือ

และยิ่งน่าสนใจเมื่อเราเห็นได้ว่า แม้แต่การติดตามตัวบิลลี่เอง ก็ทำได้ยากและได้ข้อรับรู้ข้อเท็จจริงหลายประเด็นมาในเวลาที่ช้าเกินไป ... ซึ่งนั่นอาจเป็นผลต่อคดีนี้ในอีกหลายปีต่อมา

เปิดสำนวน แจ้งข้อหา 157 กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน

จากคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร 3 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีที่มา จากเหตุการณ์ที่นายชัยวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยอมรับว่าได้ควบคุมตัว นายพอละจี หรือ บิลลี่ ไว้จริง ในจุดที่เรียกว่า ด่านมะเร็ว

เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าผิดกฎหมาย 3-4 ขวด แต่หลังจากที่ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ พร้อมนำรถจักรยานยนต์ของบิลลี่ขึ้นท้ายรถกระบะของอุทยานฯ ออกมาจากด่านเพียงเล็กน้อย ก็ตัดสินใจปล่อยตัวบิลลี่ไป โดยไม่นำไปส่งให้ตำรวจดำเนินคดี

แต่ ... หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครได้พบเห็นบิลลี่อีกเลย

ในคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 ศาลยังระบุว่า ในคำให้การของจำเลย "มีข้อพิรุธ" หลายจุด ดังนั้น ต้องมาดูในสำนวน

  1. ในช่วงการจับกุมตัวบิลลี่ มีรถกระบะของเจ้าหน้าที่ 2 คัน และมีชาวกะเหรี่ยงเห็นบิลลี่ถูกจับกุมที่จุดนี้ เป็นครั้งสุดท้ายที่บิลลี่ถูกพบเห็น
    • คัน A คือ รถประจำตำแหน่งหัวหน้าอุทยาน
    • คัน B คือ รถของเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่ด่านมะเร็ว (ชาวบางกลอยจะลงมาจากหมู่บ้านต้องผ่านด่านนี้ทุกครั้ง)
    • เจ้าหน้าที่ให้การว่า บิลลี่ ถูกนำขึ้นรถคัน A ไปพร้อมหัวหน้าอุทยาน และเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ส่วน จยย.ของบิลลี่ ถูกนำขึ้นท้ายรถกระบะ A
    • รถคัน A ออกไปก่อน ผ่านกล้องวงจรปิดเอกชน
    • รถคัน B ออกตามหลังไปในเวลาห่างกันประมาณ 3 นาที ในรถมีเจ้าหน้าที่ 1 คน และนักศึกษาฝึกงาน 2 คน
    • ออกมาได้เล็กน้อย ถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ให้การว่าเป็นจุดปล่อยตัวบิลลี่ลง
    • คำให้การช่วงแรก นักศึกษาฝึกงาน 2 คน ซึ่งอยู่ในรถคัน B ให้การไม่ตรงกัน คนหนึ่งบอกเห็นบิลลี่ขับรถสวนมา อีกคนหนึ่งบอกเห็นรถที่นั่งมาขับแซงบิลลี่ไป
    • ตำรวจ จำลองเหตุการณ์หลายครั้ง พบว่า ถ้ารถคัน B ตามหลังมาในเวลาห่างกัน 3 นาที ไม่มีโอกาสที่จะพบบิลลี่ ขับรถ จยย.อยู่เลย ต้องเห็นบิลลี่ ยังอยู่ที่รถกระบะคัน A เท่านั้น เพราะยังต้องเอารถ จยย.ลงจากท้ายกระบะ
    • ต่อมานักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน กลับคำให้การ เป็น "ไม่เห็นบิลลี่"
  2. ทิศทางรถคัน A ในคำให้การ ไม่ตรงกับหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด
    • เจ้าหน้าที่อุทยานให้การว่า หลังปล่อยบิลลี่ไปแล้ว รถคัน A มุ่งหน้ากลับไปที่บ้านพักของหัวหน้าอุทยานฯ ทันที
    • ตำรวจตรวจสอบกล้องวงจรปิดเอกชนอีก 2 จุด จากจุดที่อ้างว่าปล่อยบิลลี่ลง ไปถึงบ้านพัก ไม่พบว่ารถคัน A ผ่านกล้องทั้ง 2 ตัว ในช่วงเวลาหลังออกมาจากด่านมะเร็ว
    • ตำรวจ พบรถคัน A ผ่านกล้องวงจรปิดเอกชนอีก 1 ตัว แต่วิ่งไปคนละทาง กับในคำให้การ คือ ไปในทางขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ในเวลาที่ต่อเนื่องกับที่บอกว่าปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ไม่พบ รถ จยย.ของบิลลี่
    • พบรถคัน A วิ่งกลับผ่านกล้องตัวเดิมในช่วงค่ำวันเดียวกัน

ข้อมูลเหล่านี้ อยู่ในสำนวนที่เริ่มทำการสอบสวนใหม่ หลังฝ่ายผู้เสียหายร้องขอให้เปลี่ยนพนักงานสอบสวน จึงเป็นการสืบสวนที่เริ่มขึ้น หลังจากบิลลี่หายตัวไปแล้วถึง 3 เดือน และเป็นหลักฐานหลักในสำนวนที่ดีเอสไอ ใช้ยื่นฟ้องต่อจำเลย โดยตำรวจภูธรภาค 7 สรุปสำนวนไว้ว่า ...

"ไม่พบข้อมูล บิลลี่ ถูกปล่อยตัว"

"ทางตำรวจเขาก็คงสรุปได้แค่นั้น เพราะเขาเริ่มทำก็ช้าไปมากแล้ว แต่ก็ยังดีที่มีข้อสรุปว่า บิลลี่ไม่ได้ถูกปล่อยตัว" ... นักข่าว หนุ่ม รังสี

เหตุการณ์หนึ่งที่น่าจะสะท้อนบรรยากาศที่แก่งกระจานได้ดี หลังจากบิลลี่ถูกทำให้หายไป คือ ความรู้สึกของปู่คออี้ ... ในช่วงนั้น ทนาย 2 คน ตาล กับ แป๋ม ต้องให้ "หน่อแอะ" ลูกชายของปู่ บอกปู่คออี้ว่า ถ้ามีใครมาขอให้ปั๊มนิ้วมือให้ ห้ามปั๊มให้เด็ดขาดเลยนะ ถ้าไม่มีตาลกับแป๋มอยู่ด้วย ... ปู่คออี้ก็รับปาก

วันหนึ่ง ปู่คออี้ไปที่ว่าการอำเภอ เพราะนายอำเภอเขาจะทำสัญชาติไทยให้ แต่ปู่คออี้ไม่ยอมปั๊มนิ้วมือ และบอกให้เรียกทนายมาก่อน ... เรื่องนี้นายอำเภอมาบอกเราเองว่า ต้องมีทนาย 1 ใน 2 คนนี้อยู่ด้วย ปู่คออี้ถึงจะยอมปั๊มนิ้ว

เหตุการณ์นี้อาจฟังดูขำๆ แต่จริงๆ แล้วมันยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า บรรยากาศที่นั่นมันดำมืดแค่ไหน หลังจากบิลลี่หายไป ... ทีมทนายความ เล่าทิ้งท้าย

 รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง