ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แท็บเล็ต" ยุคยิ่งลักษณ์ถึงไอเดีย "เพิ่มพูน" ควรไปต่อหรือพอได้แล้ว

สังคม
20 ก.ย. 66
11:57
1,194
Logo Thai PBS
"แท็บเล็ต" ยุคยิ่งลักษณ์ถึงไอเดีย "เพิ่มพูน" ควรไปต่อหรือพอได้แล้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet PC per Child) แนวคิดยกระดับคุณภาพการศึกษา สู่บทเรียนความล้มเหลวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

วันแรกที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เข้ากระทรวง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2566 ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหาร โดยในนั้นมีนโยบายเร่งด่วนสำหรับนักเรียน คือเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต

นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีโครงการจะซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนอีกครั้ง หลังจากที่เคยซื้อแจกไปแล้ว สมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และใช้ได้ไม่นาน ทุกอย่างก็ล้มเหลว ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น

- เครื่องที่ซื้อมาคุณภาพต่ำ
- ในโรงเรียนไม่มีครูที่รู้เรื่องเทคโนโลยีคอยแนะนำการใช้
- โรงเรียนไม่มีครูที่รู้วิธีการดูแลรักษาเครื่อง
- สภาพอากาศของโรงเรียน ร้อนบ้าง ชื้นบ้าง ฝนตกบ้าง ทำให้เครื่องชำรุดเร็ว
- โรงเรียนไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือมี แต่ไม่เสถียรทำให้เครื่องชำรุดเร็ว
- โรงเรียนไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
- โรงเรียนไม่มีที่จัดเก็บให้ปลอดภัย
- ซอฟแวร์ที่ใช้ในแต่ละวิชายังไม่เสร็จสิ้น

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายครั้งแรก 23 ส.ค.2554 บอกว่า จะจัดหาเครื่องแท็บเล็ตพีซี (Tablet PC) ให้แก่โรงเรียน เริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับการเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสม

โดยบรรจุหลักสูตรลงในแท็บเล็ตพีซี เพื่อสร้างโอกาส สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ยกระดับการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น และสนุกกับการเรียนรู้ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ พร้อมจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายให้บริการในสถานศึกษาที่กำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ซึ่งนโยบายนี้จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปี โดยแบ่งการแจกจ่ายแท็บเล็ตไปยังโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 564,723 เครื่อง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 183,360 เครื่อง, โรงเรียนสาธิตในกำกับมหาวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 3,845 เครื่อง

โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 46,575 เครื่อง, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 1,881 เครื่อง, เมืองพัทยา 1,557 เครื่อง และโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 54,945 เครื่อง

ต่อมาในปี 2556 เป็นปีที่ 2 ที่มีการประกวดราคาจัดซื้อแท็บเล็ตจาก บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก เดเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 4,611 ล้านบาท

เมื่อรวมกับงบประมาณปีแรก เท่ากับใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท โดยแท็บเล็ตนั้นมีมูลค่าเครื่องละประมาณ 2,770 บาท ซึ่งการแจกจ่ายนั้นแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่

โซนที่ 1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ภาคกลางและภาคใต้) 431,105 เครื่อง
โซนที่ 2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 373,637 เครื่อง
โซนที่ 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 (ภาคกลางและภาคใต้) 426,683 เครื่อง
โซนที่ 4 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 402,889 เครื่อง

แต่หลังจากนั้นเกิดปัญหาการผลิตที่ล่าช้า บริษัทผลิตแท็บเล็ตที่ไม่สามารถจัดส่งเครื่องได้ตามสัญญา ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่อเกิดปัญหาฮั้วประมูลจนต้องมีการตรวจสอบกระบวนการผลิต ทำให้กระบวนการต่าง ๆ หยุดชะงัก กว่าจะสามารถกระจายแท็บเล็ตสู่นักเรียนและโรงเรียนได้ก็ล่าช้าไปหลายเดือน

ผลเสียของนโยบายการแจกเครื่อง Tablet

จากการสำรวจพบข้อเสียของนโยบายการแจกเครื่อง Tablet เช่น เกิดปัญหาเรื่องสายตาและปัญหาด้านสุขภาพ เด็ก ๆ ใช้เวลากับการจ้องแท็บเล็ตมากขึ้น ทำให้ออกกำลังกายน้อยลง และมองว่า แท็บเล็ตไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะจะทำให้ทักษะการใช้มือเขียนไม่เป็น และมีโอกาสอยู่ในโลก Cyber มากขึ้น ทำให้ลดการเล่นกับเพื่อน ๆ ในชีวิตจริง อาจส่งผลทำให้เด็กขาดมนุษย์สัมพันธ์ได้
https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php

ข่าวที่เกี่ยวข้อง