อย่าลืมแรด
แทบไม่น่าเชื่อว่าแรดทั่วโลกจะเหลืออยู่เพียง 26,300 ตัว ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยโดย The International Rhino Foundation (IRF) หลังจากการสำรวจที่เคยถูกระบุเมื่อ 8 ปีก่อนเคยมีตัวเลขอยู่ราว 30,000 ตัว
แม้ว่า "แรด" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองจากช้าง กำลังจะสูญพันธุ์ลงไปทุกที
ด้วยเหตุนี้ วันแรดโลก (World Rhino Day) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wide Fund for Nature-WWF แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของ 2 คน คือ Lisa Jane Campbell และ Rhishja Cota ที่มีความต้องการหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการหยุดการล่าแรด และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ทั่วโลก ใจนกลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและองค์กรต่าง ๆ
รู้หรือไม่ทั่วโลกมีแรดอยู่ 5 สายพันธุ์
- แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
- แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
- แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนา และมีรอยย่น
- แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และถูกจัดอันดับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลก
- กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือแรดสุมาตรา หรือ แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง
ภัยคุกคามแรดโลก-ล่า-รุกล้ำถิ่นอาศัย
สำหรับภัยคุกคามของแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ ยังคงเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคที่เป็นถิ่นอาศัยของแรด โดยภัยคุกคามที่สำคัญต่อความสูญเสียประชากรแรด คือการลักลอบล่านอแรด การคุกคามถิ่นอาศัย รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบมากขึ้น ส่วผลต่อการการอยู่รอดของแรดในธรรมชาติ
แรด 2 สายพันธุ์ แรดขาว และแรดสุมาตราลดลง ส่วนแรดชวาชนิดที่เหลืออยู่นั้น ไม่ทราบสถานะแนวโน้มจำนวนประชากร
สำหรับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ยังเป็นเป้าหมายหลักในการลักลอบล่าสัตว์ ในปีนี้อินเดีย ก็ประสบความสูญเสียจากการลักลอบล่าสัตว์ถึง 2 ครั้งในปี 2566
ข้อมูลยังระบุว่า อุทยานแห่งชาติอูจุงกูลอน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแรดชวา เพียงแห่งเดียวในโลก พบว่ามีการพยายามบุกรุกอย่างหนัก กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ของอินโดนีเซีย รายงานพบการตายของแรดชวาที่ผิดปกติ ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน
แรดแอฟริกาถูกสังหาร 451 ตัว
สอดคล้องกับข้อมูลของ WWF ประเทศไทย รายงานว่ากรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ สรุปตัวเลขแรดที่ถูกสังหารในปี ค.ศ.2021 อยู่ที่ 451 ตัว ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี ค.ศ.2019 ถึง 24% แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่น่าตกใจ
327 ตัวคือจำนวนสัตว์ที่ถูกล่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่คุ้มครองที่ประกาศโดยรัฐ ซึ่งเป็นการลักลอบฆ่าสัตว์ และมีอีก 124 ชีวิตที่ถูกสังหารจากการเปิดสัมปทานให้ล่าอย่างถูกต้อง
แอฟริกาใต้ เป็นบ้านของประชากรแรดกว่า 80% ที่หลงเหลือในโลก แรดมักจะถูกล่าเพื่อเอานอมาเสริฟตลาดค้านอแรดในเอเชีย และเป็นที่รู้กันว่ามันจะถูกนำมาทำเป็นยาตามความเชื่อโบราณว่า นอแรดมีคุณสมบัติบางประการที่จะสามารถรักษาโรค หรือประคองสุขภาพให้แข็งแรงได้
ปัจจุบันประชากรแรดขาว ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยอีก 2 สายพันธุ์ถูกจัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยทั่วโลกมีประชากรเหลืออยู่เพียง 20,000 ตัวเท่านั้นจากข้อมูลงานวิจัยของ WWF และเช่นเดียวกัน IUCN ก็ระบุว่าแรดดำที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติมีจำนวนเหลือเพียง 5,000 ตัวเท่านั้น ซึ่งทำให้พวกมันตกอยู่ในสถานะอันตรายใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
22 กันยายน 2566 ตรงกับวันอะไร
22 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก (World Rhino Day) อีกวันสำคัญที่ให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์เช่นเดียวกับสัตว์ของโลก