วันนี้ (15 ก.ย.2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระ ทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมผู้บริหารระดับสูงวาระพิเศษ ถือเป็นการประชุมครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่ง เพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการบริหารงาน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทิศทางของ สธ.จะเป็นองค์กรหลักทางด้านสุขภาพแล้ว ต้องร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ด้วย โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งเฝ้าระวังความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
สำหรับการขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุข จะน้อมนำและพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และยกระดับ 30 บาทพลัส ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนไทย ผ่านนโยบาย 12 ประเด็น ดังนี้
- โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล
- สุขภาพจิต/ยาเสพติด
- มะเร็งครบวงจร
- สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร
- การแพทย์ปฐมภูมิ
- สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ
- สถานชีวาภิบาล
- พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย
- ดิจิทัลสุขภาพ
- ส่งเสริมการมีบุตร
- เศรษฐกิจสุขภาพ
- นักท่องเที่ยวปลอดภัย
ใน 100 วันแรก สธ.และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันผลักดันนโยบายเรื่องต่างๆ ให้เห็น Quick Win ที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็จะไม่ละเลยการดูแลบุคลากรสาธารณสุขทุกคน
มีลูกไม่ยาก-หายากคู่ยาก
เมื่อถามถึงกลยุทธ์การส่งเสริมการมีบุตรอยู่ใน Quick Win ด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ใน Quick Win แต่อยู่ในนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการทำ Quick Win ไม่ได้ เพราะได้รับข้อเสนอจากกรรมการแพทย์สภา อาจารย์แพทย์บอกว่า
การส่งเสริมมีลูกไม่ยาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ยากกว่าคือทำอย่างไรให้หาคู่สมรส โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่หาคนมาแต่งงานได้ก่อน ยากกว่าการมีลูก ต้องทำทุกมิติควบคู่กันไป
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ ทำให้คนตัดสินใจจะมีคู่ครองก็ลำบาก มีคู่ครองก็ตัดสินใจมีลูกลำบาก เพราะคำนึงถึงโอกาสของลูก แต่เราเข้าใจในมุมนั้น แต่จะต้องรับผิดชอบสร้างภาวะแวดล้อม สร้างโอกาส ความเป็นไปได้ ขจัดปัจจัยให้ลดน้อยที่สุด เพื่อให้ตัดสินใจเข้ามามีหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ โดยเด็กแรกเกิดต่อปีตัวเลขที่เหมาะสม 2.1 ต่อแสนประชากร ก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนการทำให้คนอยากมีลูก สธ.จะทำหน้าที่ในส่วนของอนามัยเจริญพันธุ์ ส่งเสริมคนมีลูกให้มีความพร้อม ส่วนจะผลักดันเสนอความพร้อมด้านอื่นๆ จำเป็นต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จะเสนอนายกฯ เข้าครม.
โดยมิติที่น่ากังวลที่สุดคือเศรษฐกิจและสังคม ต้องมาช่วยขจัดเหตุตรงนั้น เช่น รัฐบาลช่วยดูแลบุตรคนที่ 2-3 ดูแลจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ การดูแลเด็กแรกเกิดทุกคนช่วยเหลือหรือไม่ อย่างทุกวันนี้คนละ 600 บาท ควรจะช่วยคนละ 3,000 บาทหรือไม่ก็ต้องไปพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้มั่นใจว่ามีลูกได้อยู่ในสังคมที่ดี