วันนี้ (12 ก.ย.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงในระหว่างการอภิปรายนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาภาคการเกษตร โดยย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย.) เพื่อให้มีมาตรการพักหนี้ออกมาโดยเร็ว
พร้อมย้ำว่ามาตรการพักหนี้เกษตรกร ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะทำให้ได้ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยจะพักทั้งต้นและดอก ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อปลูกพืชตามความต้องการของตลาดโลก โดยตระหนักถึงภาวะโลกเดือด ควบคู่กับการถ่ายทอดองค์ความรู้ อาทิ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต
ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่ฟื้นฟูจิตใจเกษตรกร ให้มีแรงใจ ในการทำมาหากิน อย่างมีเกียรติ และศักดิ์ศรี โดยจะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง อย่างเคร่งครัด
ส่วนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาหมูเถื่อนนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
อ่านข่าว : นายกฯ ให้คำมั่นไม่ปล่อย "อิทธิพล-มาเฟีย" ครอบงำตำรวจ
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงปัญหาหนี้สิน การพักหนี้เกษตรกร โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้แก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนมาตลอด การพักหนี้เป็นจุดเริ่มต้นการทำงาน การพักหนี้ 3 ปี ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับเกษตรได้
ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ผ่านการแก้หนี้ในเรื่องนี้โดยรัฐบาลหลายๆ ชุด ผ่านมา 13 ครั้ง ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรพบกับทางออกของการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม แต่ครั้งนี้ด้วยสภาวะการเศรษฐกิจที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตร หนี้อยู่ในระดับสูง หนี้ภาคประชาชนก็อยู่ในระดับที่สูง
หลังจากมีการพักหนี้จะมีโครงการโดยนโยบายรัฐอีกมากมาย จะมีการคัดกรองพี่น้องเกษตรกรตามเงื่อนไข และคุณสมบัติที่เหมาะสม จะเติมโครงการที่จูงใจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ ให้สามารถลดภาระเงินต้นได้ จะมีวิธีบริหารจัดการหนี้ที่ชัดเจน ส่งเสริมให้มีการเพิ่มรายได้ การปลูกพื้นที่เพิ่มมูลค่า การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
พร้อมวางเป้าเพิ่มมูลค่า GDP ทางการเกษตร ในระยะเวลา 4 ปี และมีแนวทางการเจรจาการค้าขาย FTA กับหลายๆ ประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้า
ทั้งนี้มองถึงปัญหาเอลนีโญที่จะมาถึง แต่ไม่ได้มองแค่เป็นอุปสรรค แต่มองเป็นโอกาส โดยสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นจะเกิดภาวะขาดแคลนในเรื่องของอุปทานด้านการอาหารจำนวนมาก ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าหากประเทศไทยเราสามารถสร้างความแข็งแกร่งในภาคการเกษตรได้ ประเทศไทยจะกลับมาเป็นครัวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ส่วนกลไกอื่นๆ ที่เข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรที่แม่นยำ ซึ่งจะให้กลไกที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละสินค้าการเกษตร จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนในราคาสูงให้กับเกษตรกร รวมถึงการแปรรูปต่างๆ
ทั้งนี้รัฐบาลชุดนี้หวังว่าจะให้เกษตรกรกลับมาเป็นฟันเฟืองแข็งเกร็งเต็มภาคภูมิ มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัว
ส่วนภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รัฐบาลมีแผนรองรับในการช่วยเหลือ รวมถึงการจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติม รวมถึงหนี้ของสหกรณ์ และข้าราชการ รวมถึงการปรับแก้โครงสร้าง แก้ปัญหาหนี้ และที่สำคัญที่สุดคือหนี้นอกระบบ ต้องเดินหน้าในการแก้ไข และดึงกลับมาสู่ระบบที่ถูกต้อง และเชื่อว่าการทำงานของรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
เรื่องนโยบายสวัสดิการโดยรัฐ คำนึงถึงภาระของงบประมาณ ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค วัคซีนฟรี และสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะลงไปยังประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มที่มีความจำเป็น นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาส และเพิ่มการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรองรับในการจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้า สิ่งที่จำเป็นที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้คือการสร้างเค้กที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นจึงสามารถนำภาษีเหล่านั้นไปจัดทำสวัสดิการ
นายจุลพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจในการเดินหน้าทำสวัสดิการให้กับประชาชน ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกรอบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลตระหนักและทางวินัยทางการเงิน การคลัง แต่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนสามารถจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประท้วงวุ่น! ก้าวไกล-เพื่อไทยปมนายกฯ ส้มหล่น
"จุรินทร์" ซัดรัฐบาลไม่แจงที่มางบฯ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เหมือนไปตายเอาดาบหน้า