วันนี้ (11 ก.ย.2566) ทุกหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมหารือการตัดต้นยางนาที่ยืนต้นตายในวัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มานานกว่าสิบปีออก
แต่ปัญหาหลักคือ ซากต้นยางนาที่สูงกว่า 30 เมตรต้นนี้ เป็นรังฟักไข่ของนกแก้วโม่ง นกแก้วที่มีขนาดใหญ่สุดในไทย และเป็นนกหายากในธรรมชาติ สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอยู่ในบัญชีคุ้มครอง 2 ของอนุสัญญาไซเตส
ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะนักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง บอกว่า เดือน ก.ย.-ต.ค. นกแก้วโม่งจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ เจาะโพรงไม้เนื้ออ่อน หรือไม่ยืนต้นตาย สร้างรังวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง ซึ่งการศึกษาปีนี้ พบนกแก้วโม่งจับคู่แล้ว 4 คู่ อาศัยอยู่ในโพรงไม้ จึงอยากให้กรรมการวัดมะเดื่อ ชะลอการตัดต้นไม้ยืนต้นตายนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะถึง เม.ย.2567 เพื่อให้ลูกนกฟักไข่และแม่ทิ้งรัง
พระมหาชูชีพ สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อ บอกว่า ที่ผ่านมาซากไม้ยืนต้นตายเคยหักหล่นสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินประชาชน และหวั่นเกิดอันตรายต่อชีวิต เพราะสภาพไม้ตายซากที่ด้านในผุกร่อนเต็มที่ แต่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์นกแก้วโม่ง จึงฝากถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักอนุรักษ์ให้ร่วมกันหาทางออกให้นกอยู่ได้ และไม้ยืนต้นตายไม่สร้างอันตราย
หลังการหารือผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี สรุปผลว่าจะใช้วิธีสร้างคานเหล็ก เจาะไม้ค้ำยัน โดยไม่ตัดต้นยางนาออก และติดตั้งรังเทียมเพิ่ม ให้ทันกับฤดูจับคู่
นกแก้วโม่งที่พบใน จ.นนทบุรี ถือเป็นฝูงสุดท้ายที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติท่ามกลางชุมชนเมือง โดยบินหากินและอาศัยสร้างรังอยู่ที่วัด 3 แห่งคือ วัดมะเดื่อ อ.บางบัวทอง วัดสวนใหญ่ อ.บางกรวย และวัดอัมพวัน อ.บางใหญ่ ซึ่ง จ.นนทบุรีกำลังจะผลักดันให้เป็นสัตว์อัตลักษณ์คู่นนทบุรี
อ่านข่าวอื่นๆ :