ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องน่ารู้! "เครื่องหมายการค้า" เช็กขั้นตอนตรวจสอบไม่ให้ซ้ำคนอื่น

สังคม
31 ส.ค. 66
14:44
7,653
Logo Thai PBS
เรื่องน่ารู้! "เครื่องหมายการค้า" เช็กขั้นตอนตรวจสอบไม่ให้ซ้ำคนอื่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มาทำความเข้าใจคำว่า "เครื่องหมายการค้า" ทำไมจึงต้องมีการยื่นจดทะเบียน หากยื่นจดทะเบียนแล้วจะเป็นผลดีอย่างไรกับธุรกิจ และจะเช็กได้อย่างไรว่า "ชื่อแบรนด์ - โลโก้" ซ้ำคนอื่นหรือไม่

จากประเด็นร้านอาหารแห่งหนึ่ง ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่า แบรนด์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" ไว้ พร้อมสงวนสิทธิห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และ สงวนสิทธิห้ามนำชื่อแบรนด์ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้า เพื่อส่งเสริมการขาย

ประเด็นนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันบนโลกโซเชียลต่อเนื่องหลายวัน จนแฮทแท็กเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาให้ความรู้ต่อประเด็นนี้ "น้ำแข็งไสราด ชาไทย" มีขายมานานแล้ว จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรแล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้

และเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้แต่ต้องระวังอย่างนำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต

ซึ่งร้านนี้จดสิทธิบัตรหลายรายการ หนึ่งในนั้น คือ "ภาชนะ" ที่ใช้ใส่ "ปังชา" ของแบรนด์ดังกล่าว จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ดังนั้นอย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปใช้ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์จะพาไปทำความเข้าใจกับกฎหมายเครื่องหมายการค้า ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  

เครื่องหมายการค้ามีกี่ประเภท 

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ระบุคำว่า "เครื่องหมายการค้า" หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายนั้น แตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ด้าน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุไว้ว่า "เครื่องหมายการค้า" เป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการระบุ และจําแนกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นสินค้าหรือบริการก็ได้ ในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย ใช้คำว่า "เครื่องหมายการค้า" สำหรับสินค้า และ "เครื่องหมายบริการ" สำหรับบริการ

ขณะที่ประเภทของเครื่องหมายการค้า แบ่งออกได้เป็น 

  • เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าของบุคคลอื่น เช่น Apple Samsung TOYOTA
  • เครื่องหมายบริการค้า เครื่องหมายที่ใช้กับบริการเพื่อแสดงว่าบริการนั้นแตกต่างไปจากบริการของบุคคลอื่น เช่น นกแอร์ ธนาคารกรุงไทย
  • เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้รับรองเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้น เช่น ISO เชลล์ชวนชิม อาหารฮาลาล
  • เครื่องหมายร่วม เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการที่ใช้ในบริษัทเดียวกันหรือใช้ในองค์การ / กลุ่มบุคคล/ สมาชิกเดียวกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มมิตรผล

สำหรับองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้า เพื่อจำแนกความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย คำ, ชื่อ, ตัวอักษร, ตัวเลข, ภาพวาด, รูปภาพ, รูปร่าง, สี, สัญลักษณ์ หรือการนำสัญลักษณ์มารวมกันเป็น ชุดคำ หรือ ประโยค สโลแกนโฆษณา และชื่อเรื่อง

รวมไปถึงภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน

นอกจากนี้ ยังระบุถึงลักษณะของเครื่องหมายที่จะสามารถจดทะเบียนได้ยังต้องมี "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ซึ่งหมายความว่า มีลักษณะพิเศษที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวหรือกล่าวได้ว่าต้องไม่เป็นคำหรือสิ่งที่ใช้กันสามัญทั่วไป เช่น นาย นางสาว หรือเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าหรือบริการอื่น ไม่เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทำอย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสามารถยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่ ศูนย์บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา จ.นนทบุรี หรือสามารถยื่นคำขอผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทุกจังหวัด หรือทางเว็บไซต์ รวมทั้งยื่นคำขอทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก็ได้ 

เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วจะมีอายุการให้ความคุ้มครอง 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และสามารถต่ออายุได้คราวละ 10 ปี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งแต่การยื่นคำขอต่ออายุต้องดำเนินการภายใน 90 วัน ก่อนวันที่เครื่องหมายการค้านั้นสิ้นอายุในกรณีที่เครื่องหมายการค้ามิได้ยื่นคำขอต่ออายุภายในเวลาที่กำหนดถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นได้ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน

เช็กเครื่องหมายการค้า ป้องกันคดีพิพาท 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถตรวจสอบได้เองเบื้องต้นว่าเครื่องหมายการค้าที่ออกแบบมานั้น เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้มีข้อพิพาท

ทางกฎหมายในอนาคตได้ สามารถตรวจสอบได้ดังนี้

  • สืบค้นด้วยตนเองที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
  • สืบค้นทางอินเตอร์เน็ต โดยผู้ขอจะต้องเข้าเว็บไซต์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีค่าใช้จ่าย

โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. เลือกบริการออนไลน์ เมนูระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (e-Filing)

2. เลือกตรวจสอบความเหมือนคล้ายของเครื่องหมาย

อย่างไรก็ตาม การตรวจค้นเครื่องหมายตาม 1. และ 2. เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า 

เมื่อจดทะเบียนสิทธิที่เจ้าของจะได้รับ ดังนี้

  • สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการขอจดทะเบียนไว้ รวมถึงการโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายสินค้าที่จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้
  • สิทธิป้องกันไม่ให้ผู้อื่นจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิด รวมทั้งมีสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของตน หรือฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับ เครื่องหมายการค้าของตนได้
  • สิทธิที่จะโอนหรือรับมรดกสิทธิกันโดยการโอนหรือรับมรดกพร้อมกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ได้ โดยจะต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน และในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดจะต้องโอนหรือรับ มรดกสิทธิกันทั้งชุด
  • สิทธิในการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ละเมิดเครื่องหมายการค้า

อย่างไรก็ตาม แม้เครื่องหมายการค้าจะได้รับการคุ้มครองโดยการจดทะเบียน แต่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ประสงค์จะประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้

ดังนั้น หากแน่ใจว่าเครื่องหมายการค้าของตนจะไม่ถูกลอกเลียนแบบ ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนจะมีเพียงสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายทางการค้านั้นเท่านั้น จะฟ้องร้องคดีกับผู้ทำการละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เว้นแต่กรณีลวงขาย  

ละเมิดเครื่องหมายการค้า มีโทษ 

 ในการปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของบุคคลอื่น ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษทางอาญา

  • ผู้กระทำความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้กระทำความผิดฐานเลียนแบบเครื่องหมายการค้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับ ไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล กฎหมายกำหนดเอาผิดแก่กรรมการผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่ว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่ามิได้รู้เห็นหรือยินยอม ในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน เจ้าของเครื่องหมายการค้า จะไม่สามารถดำเนินคดีแก่ผู้ปลอมหรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้าได้ เว้นแต่เป็นกรณี การลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญาdharmnitiพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง