จุดเริ่มต้น อาเซียน (ASEAN)
อาเซียนตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 หลังการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) โดยรัฐมนตรีจาก 5 ประเทศ ได้แก่
- อาดัม มาลิก รมว.การต่างประเทศ จากอินโดนีเซีย
- ตุน อับดุล ราซัก ปิน ฮุสเซน รองนายกฯ, รมว.กลาโหม และ รมว.พัฒนาการแห่งชาติ จากมาเลเซีย
- นาซิโซ รามอส รมว.การต่างประเทศ จากฟิลิปปินส์
- เอส ราชารัตนัม รมว.การต่างประเทศ จากสิงคโปร์
- พ.อ.(พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รมว. การต่างประเทศ จากไทย
โดยที่ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง เห็นว่าการตั้งองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดความขัดแย้ง และ ส่งเสริมการระงับข้อพิทาทโดยสันติวิธี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ปฏิญญากรุงเทพฯ กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำหรับอาเซียน 7 ประการ ได้แก่
- ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และ วัฒนธรรม
- ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพ และ ความมั่นคงของภูมิภาค
- ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และ ด้านการบริหาร
- ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการฝึกอบรม และ การวิจัย
- ส่งเสริมความร่วมมือ ในด้านเกษตรกรรม และ อุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และ การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
- ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาค และ องค์กรระหว่างประเทศ
หลังการจัดตั้งอาเซียนแล้ว ต่อมาอาเซียนได้เปิดรับสมาชิกใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่
- บรูไนดารุสซาลาม เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ 7 ม.ค.2527
- เวียดนาม เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ 28 ก.ค.2538
- ลาว และ พม่า เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ 23 ก.ค.2540
- กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ 30 เม.ย.2542
ความสำเร็จของอาเซียน
นับแต่ก่อตั้ง ประเทศสมาชิกอาเซียนพยายามส่งเสริมการยึดมั่นในบรรทัดฐานร่วมกัน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกันมีส่วนช่วยป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกัน มีส่วนช่วยป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ทำให้ไม่มีสงครามระหว่างกันและยังประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นเวทีที่ประเทสมหาอำนาจหลายประเทศเข้าร่วมหรือหารือในฐานะประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partnership) รวมทั้งมีความร่วมมืในกรอบความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN+3) ด้วย
อาเซียนได้วางรากฐานของการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) และยังมีความตกลงอื่นๆ ทั้งใน
อาเซียนเองและกับประเทศคู่เจรจา เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดต่อประชาคมโลก ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง และ ความร่วมมือสาขาอื่นอีกมากมาย ตลอดจนส่งเสริมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวให้เกิดขึ้นในภูมิภาค
สร้างประชาคมอาเซียน
ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันในภูมิภาค เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ อาเซียนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
การผนึกกำลังของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ย่อมทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และ ปัญหาท้าทายได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้เสียงของอาเซียนมีน้ำหนัก สร้างความเชื่อถือในอาเซียน และ ทำให้อาเชียนมีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น
ในปี 2546 ผู้นำอาเซียนต่างเป็นพ้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนควรจะร่วมมือกันให้เหนียวแน่น เข้มแข็ง และมั่นคงยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้มีการสร้าง ประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
- ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community) มุ่งให้ประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคงรอบด้าน
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนรวมกันใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีประชากร 642.1 ล้านคน
- ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cuttural Community) มุ่งหวังให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หลายเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาเซียน
ไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Principle of Non-interference) หลักการนี้ทำให้อาเซียนมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกต่างเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของตน รวมทั้งแนวคิดที่ว่าปัญหาภายในประเทศไม่สามารถแก้ไขโดยมาตรการลงโทษจากภายนอก
เร่งรัดกระบวนการปรองดองในเมียนมา อาเซียนช่วยผลักดัน เร่งรัด และ เจรจา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเมียนมา เพื่อนำประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศ พร้อมกับเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยนักโกษการเมือง รวมถึงนางออง ซาน ซูจี
อย่างไรก็ดี อาเซียนไม่เห็นด้วยต่อการคว่ำบาตรและใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพม่า เพราะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผลและไร้ประโยชน์ ทั้งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวพม่า
ใช้เวทีเจรจาสร้างสัมพันธ์ อาเซียนยังมีกลไกเพื่อปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างกันที่สมดุลและสร้างสรรค์ โดยผ่านเวทีการหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ผ่านการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS)
ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปราศจากการสู้รบทางการทหารมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว
- อาเซียน+3 (ASEAN+3) คือ ความร่วมมือของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพื่อความร่วมมือหลัก ๆ 5 ด้าน คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม
- อาเซียน+6 (FTA ASEAN+6) คือ การรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน การทำการค้า และศักยภาพการแข่งขัน พร้อมกับปูทางเพื่อเตรียมทำข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีของประเทศอาเซียน+6
- อาเซียน-สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเป็นคู่เจรจาของอาเซียนตั้งแต่ปี 2520 และยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เมื่อปี 2558 ด้วยความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศคู่เจรจาประเทศแรกที่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำอาเซียนอีกด้วย
เขตปลอดนิวเคลียร์ ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมลงนามกันใน สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty) ซึ่งได้ลงนามเมื่อเดือน ธ.ค.2538 มุ่งให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ไม่พัฒนา ไม่ผลิต ไม่จัดซื้อ ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ไม่เป็นฐานการผลิต ไม่ขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ทดสอบ และ ไม่ใช้อาวุธ นิวเคลียร์ในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้รัฐใดปล่อยหรือทิ้งวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นกัมมันตภาพรังสีลงบนพื้นดิน ทะเล และอากาศ
ส่งเสริมท่องเที่ยว ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดการประชุมร่วมกันด้านการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปีในเดือน ม.ค. โดยหมุนเวียนกันจัดในประเทศสมาชิกกันไป นอกจากนั้นยังให้ความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดทำรายการโทรทัศน์ ริเริ่มการทำ Single Visa ให้ใช้เดินทางเข้าได้หลายประเทศเหมือนกับ Schengen Visa ของยุโรป
ธงอาเซียนมีความหมาย แสดงถึงความมั่นคง สันติภาพ ความเป็นเอกภาพ และ พลวัตของอาเซียน เป็นที่มาของสี 4 สี ที่รวบรวมจากสีของธงประเทศสมาชิกอาเชียนทั้งหมด
- สีน้ำเงิน คือ สันติภาพ และ เสถียรภาพ
- สีแดง คือ ความกล้าหาญ และ การมีพลวัต
- สีขาว คือ ความบริสุทธิ์
- สีเหลือง คือ ความเจริญรุ่งเรือง
สัญลักษณ์ของอาเซียน คือ รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้น เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศขณะที่วงกลมที่อยู่รอบรวงข้าว แสดงถึงความเป็นเอกภาพ ความเป็นหนึ่งเดียว และ ความสมานฉันท์ของอาเซียน
คำขวัญอาเซียน "One Vision, One Identity, One Community" ซึ่งแปลได้ว่า หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม
ที่มา : กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ