โครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ เกิดขึ้นหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ระยะเวลาพัฒนาโครงการ ตั้งแต่ปี( 2546 -2576) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุญาตให้จังหวัดศรีสะเกษ ใช้ประโยชน์ในเขตป่า
ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ “ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา” ท้องที่ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ เนื้อที่กว่า 900 ไร่ ซึ่งจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณตามแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด กว่า 200 ล้านบาท พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเบื้องต้นตามแผนแม่บท
โดยมีการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารพาณิชย์ อาคารสถานีขนส่งสินค้าผู้โดยสาร รวมถึงการให้ก่อสร้างอาคารสำนักงานด่านพรมแดนแห่งใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดช่องสะงำรายเดิม และผู้ประกอบการที่ตลาดช่องจอม จ.สุรินทร์ และตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว มาร่วมลงทุน
การค้าในตลาดแห่งใหม่จะมีการซื้อขายวันละ 10 ล้านบาท โดยจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยต้องจัดสรรงบประมาณปีละกว่า 1 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการ เก็บขยะ แรงงาน ระบบสาธารณูปโภค
แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการพัฒนาหรือส่งเสริมการค้าภายในตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ตลาดเริ่มร้างไร้ผู้คน ปัจจุบันจึงมีเพียงผู้เช่ารายเดิมที่เช่าพื้นที่อยู่ไม่ถึง 10 คน บางส่วนเป็นผู้เช่าชาวกัมพูชา ที่มาเช่าห้องเพื่อเก็บสินค้า หรือแม้แต่ตลาดโรงเกลือซึ่งนักธุรกิจมาลงทุน เพื่อเปิดตลาดตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันกลายเป็นโกดังร้าง มีแม่ค้าชาวกัมพูชานำขี้ไต้หรือขี้กระบอง ที่ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง มาขายเพียงรายเดียว
แม่ค้าชาวกัมพูชา ระบุว่า เช่าที่ต่อจากเจ้าของล็อคชาวไทย เดือนละ 250 บาท เช่า 6 ห้อง เพื่ออาศัย และนำขี้ไต้มาขายให้กับพ่อค้าชาวไทย รายได้ไม่พอ
คาดหวังว่าสักวันจะมีการพัฒนาตลาดให้กลับมาค้าขาย จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือเจ้าของพื้นที่ มีแผนพัฒนาตลาดหรือการใช้พื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ที่ตั้งตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ อยู่ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำเกือบ 3 กิโลเมตร รวมถึงชาวกัมพูชาที่จะข้ามมาซื้อสินค้าในฝั่งไทย ต้องทำบอเดอร์พาส เพื่อข้ามแดนมีค่าใช้จ่าย 1,000 บาท มีระยะเวลา 15 วัน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญ
นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ มองว่า การพัฒนาตลาดไม่สามารถทำได้เต็มศักยภาพ เพราะที่ผ่านมา อบจ.ศรีสะเกษ ได้พยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถดึงกลุ่มลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาที่ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำได้
จะมีเพียงวันเปิดตลาด ในวันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ ที่มีพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย นำสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค มาขายให้ชาวกัมพูชาแต่ก็ไม่คึกคัก
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า นับแต่นี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จะทำอย่างไร เพื่อให้ตลาดแห่งนี้มีชีวิตขึ้นมาได้
รายงาน : พจนีย์ ใสกระจ่าง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส