ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้! เช็กสิทธิ "ลาหยุด ลาป่วย ลากิจ" ตามกฎหมายแรงงาน

สังคม
18 ส.ค. 66
11:19
95,774
Logo Thai PBS
สิ่งที่ลูกจ้างควรรู้! เช็กสิทธิ "ลาหยุด ลาป่วย ลากิจ" ตามกฎหมายแรงงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จากกระทรวงแรงงาน สิทธิที่ลูกจ้างควรรู้ ลาป่วย ลากิจ ลาหยุด พักร้อน รวมถึงการร้องทุกข์ของลูกจ้าง

กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ภาพแชตที่คุยกับหัวหน้างาน เพื่อขออนุญาตลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนัก แต่หัวหน้ากลับไม่ให้ลา พร้อมบอกให้หญิงสาวกลับไปทำงาน 

ต่อมาเธอก็ได้แจ้งข่าวกับหัวหน้าว่า แม่เสียชีวิตแล้วจะขอกลับบ้าน ทางหัวหน้าก็ถามว่า จะลาออกใช่ไหม เสร็จธุระแล้วมาเขียนใบลาออกได้เลย เธอจึงตอบกลับว่า "ได้ค่ะ" พร้อมกับโพสต์ถามว่า "แล้วฉันผิดอะไร เรื่องแบบนี้ พี่ควรเห็นใจ หรือเข้าใจหรือเปล่า เกินไปไหม"

หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก จนในแฮชแท็ก "พี่กบ" ติดเทรนบนแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หรือ ทวิตเตอร์ บางส่วนได้แนะนำให้ฟังความทั้งสองฝ่าย คือให้หัวหน้า หรือทางบริษัท ออกมาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนค่อยตัดสิน  

อ่านข่าว :  โรงแรมดังเขาใหญ่ สั่งพักงาน-สอบ ผจก.ไม่ให้ พนง.ลาไปงานศพแม่

ทนายชี้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้อย่างต่ำ 3 วันต่อปี

สำหรับประเด็นเรื่องข้อกฎหมายแรงงาน มีความเห็นจากทนายความหลายคน หนึ่งในนั้นคือทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ที่มองว่า กรณีดังกล่าวนายจ้างอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2562 มาตรา 34

ทนายเดชา ระบุว่า ลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงานโดยได้ค่าจ้าง แต่หากลามากกว่านี้ก็ลาได้ในกรณีที่มีความจำเป็นแต่จะไม่ได้รับค่าจ้าง หากลูกจ้างต้องลาออกจริง จะถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย มาตรา 118 ด้วย

เช่นเดียวกับทนายรณรงค์ แก้วเพชร ที่ออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า ต้องมอง 2 มุม ฟังเหตุผลของทางฝั่งนายจ้างด้วย

สั่งพักงานผู้จัดการ-ขอโทษพนักงาน

ขณะที่ ทางโรงแรมได้ออกหนังสือขอโทษกับเหตุดังกล่าว โดยใจความระบุว่า ได้มีคำสั่งพักงานพนักงานคนดังกล่าวและดำเนินการสอบสวนพฤติกรรมแล้ว

พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และพร้อมให้การสนับสนุนครอบครัวพนักงานที่แม่เสียชีวิต และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างทุกสถานการณ์ นอกจากนี้ยังย้ำว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของเพื่อนร่วมงานและพนักงานทุกคนคือหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร

เรื่องนี้ยังมีฟีดแบ็คจาก รมว.แรงงาน เพราะนายสุชาติ ชมกลิ่น ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

เปิดสิทธิตามกฎหมายที่ลูกจ้างควรรู้

เปิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จากกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงาน ลูกจ้างควรรู้ ทั้งสิทธิลาหยุดพักผ่อน พักร้อน ลาป่วย ลากิจ โดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้อธิบายถึงสิทธิการลาของลูกจ้าง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.เวลาทำงานปกติ

งานทั่วไปไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง อาทิ งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ ซึ่งโดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกิน มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล ให้มีเวลาทำงานปกติไม่เกิน 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์

2.เวลาพัก

ระหว่างการทำงานปกติไม่ น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน หรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วง ๆ ก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน 

งานในร้านขายอาหารหรือร้านขายเครื่องดื่มซึ่งเปิดจำหน่ายหรือให้บริการในแต่ ละวันไม่ติดต่อกัน อาจพักเกิน 2 ชม./วันก็ได้ นายจ้างอาจจะไม่จัดเวลาพักได้กรณีเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำ ติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน ก่อนการทำงานล่วงเวลา

กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที

3. วันหยุด

วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตาม ประเพณีในวันทำงานถัดไป

สำหรับงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม ฯลฯ อาจตกลงกันหยุดวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณี หรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อๆไปได้

4.การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด

อาจให้ลูกจ้างทำได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป
อาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน

อาจให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์

5.วันลา

วันลาป่วย : ลูกจ้าง ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น หนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้

หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ วันที่ลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดจาก การทำงาน หรือวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย การลาป่วยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี  

วันลากิจ :ลูกจ้างลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิ์ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

วันลาทำหมัน : ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง

ลูกจ้าง มีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้และมีสิทธิ์ลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะ เวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองให้โดยลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันลานั้นด้วย

วันลารับราชการทหาร : ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความ พรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้

ลูกจ้าง มีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึก วิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพรั่งพร้อม โดยลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก และได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปี

วันลาคลอดบุตร : ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุด

วันลาฝึกอบรม : ลูกจ้าง มีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ต่อการแรง งานและสวัสดิการสังคมหรือการเพิ่มทักษะความชำนาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างตามโครงการหรือหลักสูตร ซึ่งมีกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนและชัดเจน

และเพื่อการสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น ลูกจ้างต้องแจ้งเหตุในการลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันลา

นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลาหากในปีที่ลาลูกจ้างเคยได้รับอนุญาตให้ลามาแล้วไม่ น้อยกว่า 30 วัน หรือ 3 ครั้งหรือแสดงได้ว่าการลาของลูกจ้างอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อ การประกอบธุรกิจของนายจ้าง

6.ค่าตอบแทนในการทำงาน

ค่าจ้าง

จ่ายเป็นเงินเท่านั้น จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้ากำหนดเวลาทำงานปกติเกิน 9 ชม./วัน ให้จ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนสำหรับการทำงานที่เกิน 9 ชม.ขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันทำงาน และในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงหรือต่อหน่วยในวันหยุด

ค่าจ้างในวันหยุด

จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ยกเว้นลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์

ค่าจ้างในวันลา

- จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี

- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อทำหมัน

- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกิน 60 วัน/ปี

- จ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่เกิน 45 วัน/ครรภ์

7. ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด

- ถ้าทำงานเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวน ชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

- ถ้าทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงานนายจ้างต้องจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

- ถ้าทำงานในวันหยุดในเวลาทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้

สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุดหรือตามจำนวนผลงาน ที่ทำได้สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

8.ค่าชดเชย

1. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

2. ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง นายจ้างต้องปฏิบัติดังนี้

  • แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงาน ทราบล่วงหน้าไม่ น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
  • ถ้าไม่แจ้งแก่ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเท่ากับค่า จ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่า จ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

9.การร้องทุกข์ของลูกจ้าง 

1. ลูกจ้างเรียกร้องสิทธิของตนอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ของนายจ้างได้โดย 

  • ลูกจ้างนำคดีไปฟ้องศาลแรงงาน 
  • ลูกจ้างยื่นคำร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน

2. การยื่นคำร้องทุกข์ของลูกจ้างหรือทายาท

  • ยื่นคำร้องทุกข์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด
  • ยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือที่นายจ้าง มีภูมิลำเนา หรือท้องที่ที่ลูกจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้

3. การพิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานตรวจแรงงาน

  • เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง และพยานโดยเร็ว รวมทั้งการรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย
  • เมื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ต้องมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน หรือยกคำร้องทุกข์ของลูกจ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • การรวบรวมข้อเท็จจริง และการมีคำสั่ง ต้องกระทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์ไว้ดำเนินการ
  • ถ้าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ให้ขอขยายระยะเวลา ต่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน

4. การยุติข้อร้องทุกข์ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริง

  • ลูกจ้างสละสิทธิการเรียกร้องทั้งหมด
  • ลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องแต่บางส่วน โดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินบางส่วน แก่ลูกจ้าง
  • นายจ้างยินยอมจ่ายเงินทั้งจำนวน แก่ลูกจ้าง

10 บทกำหนดโทษ

1. กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา

2. นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. การปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานคดีอาญา เป็นอันระงับ

4. การฝ่าฝืนกฎหมาย

  • อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นใน กรุงเทพฯ
  • ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจเปรียบเทียบปรับสำหรับความผิด ที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด
  • ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับเท่าวันที่ได้รับแจ้งผลคดี คดีอาญา เป็นอันเลิกกัน
  • ถ้าไม่ยอมเปรียบเทียบปรับหรือไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อไป

ที่มา : กระทรวงแรงงาน

อ่านข่าว : ต้องรู้! "ลูกจ้าง" มีสิทธิลาได้ 3 วันเพื่อกิจธุระอันจำเป็น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง