เร่งแก้ปัญหา "ผู้สูงอายุไร้บ้าน" เพิ่มขึ้น
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า สถานการณ์คนไร้บ้านที่มูลนิธิอิสรชนเก็บรวบรวมกับหลายหน่วยงาน พบว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-60 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยกลางคนมากถึงร้อยละ 56.8 ส่วนคนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20.1 ของคนไร้บ้านในทุกช่วงอายุ โดยพบว่าปัญหาที่ทำให้คนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นมาจากระบบสวัสดิการไม่ยั่งยืน
รวมทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องปัญหาผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขในเชิงระบบ เพราะที่ผ่านมาระบบสวัสดิการของผู้สูงอายุยังไม่ตอบโจทย์หรือรองรับกับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เช่น สถานที่พักพิงผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพ
มันคือปลายปัญหาของสวัสดิการทั้งหมด สวัสดิการของการตกงาน ไม่สามารถอยู่ในระบบงานประจำได้ หรืองานรายวันไม่เอื้อต่อการทำงานได้ อายุที่มากขึ้นร่างกายที่ไม่พร้อมเข้าสู่ระบบงาน ไม่มีงาน ไม่มีรายได้
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ประเด็นสุขภาพเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ทั้งการป่วยทางจิตซึ่งบางชุมชนก็ขับไล่ ส่วนคนที่ป่วยทางกาย มีลักษณะติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ครอบครัวไม่รับดูแล จึงเป็นปัญหาระบบสวัสดิการทำให้คนกลุ่มนี้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก
สถานรับดูแลผู้สูงอายุเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้นผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ ต้องมีเงินเดือนเกษียณไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ขณะที่เรายังได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท
เรายังไม่มีสวัสดิการอย่างอื่น หรือระบบการเงินในชุมชนในพื้นที่ด้อยโอกาส จึงทำให้เขาออกมาใช้ชีวิตตามถนนเพราะไม่มีที่จะไป
คนไรบ้าน
ปัญหาคนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า จากการทำงานผลักดันแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิของคนไร้บ้าน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ คนไร้บ้านไม่ทราบสิทธิของตัวเอง ไม่ทราบว่าต้องไปรักษาพยาบาลที่ไหน หรือบางคนเข้าใจว่าสามารถเข้าไปใช้สิทธิในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ แต่ตามเงื่อนไขแล้วพวกเขาต้องได้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ จึงจะมีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ โดยคนไร้บ้านไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
มันเป็นการแก้ปัญหาแบบเคสบายเคส บางทีเราตั้งคำถามกับระบบที่ไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือคน หรือกว่าจะได้รักษา มันซับซ้อน ต้องเอาใบส่งตัว เขากลัวว่าสุดท้ายจะได้รักษาไหม เขาจะตัดปัญหาโดยไม่ไปก็จะเจ็บป่วย
เช่นเดียวกับ นพ.อนันต์ กุลธรรมานุสรณ์ ทีมสุขภาวะข้างถนน ลงพื้นที่ตรวจรักษาผู้ป่วยไร้บ้านบริเวณตรอกสาเก กทม. กล่าวว่า อุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิการรักษาในโรงพยาบาลของคนไร้บ้าน นอกจากจะไม่ทราบสิทธิการรักษา ยังพบว่าไม่รู้วิธีการย้ายสิทธิให้เข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล และอีกประเด็นคือการตีตราจากสังคม
เวลาเจอคนไร้บ้าน หลายคนมักจะกลัว ไม่อยากเข้าใกล้ เจ้าหน้าที่ในระบบสาธารณสุขก็จะรู้สึกคล้ายกัน บางทีคนไร้บ้านที่ไป ได้รับการปฏิบัติไม่ดีก็เป็นอุปสรรคที่เขาไม่อยากไปหาหมอ
คาดหวังรัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหา
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายในเชิงสงเคราะห์ ในมุมมองส่วนตัวมองว่ารัฐบาลชุดใหม่ควรนำนโยบายที่หาเสียงแก้ปัญหาควบคู่กับการพัฒนาคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพเพราะในระยะยาวคนไร้บ้านจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมต้องเริ่มจากจัดสวัสดิการของผู้สูงอายุที่ตอบโจทย์ เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงกลุ่มคนอายุเกิน 40 ปีที่ออกจากระบบงานและกลับเข้าสู่ระบบงานไม่ได้ด้วยสภาพร่างกายจึงเข้าสู่ระบบงานประจำไม่ได้
เรากำลังมีผู้สูงอายุเกิน 10 ล้านคน ผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยวไม่มีญาติ ไม่มีลูกหลานดูแล และรัฐบาลก็ยังไม่มีระบบดูแล นี่คือปัญหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คนการเมืองมองต่างมุม กรณีปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ
เปิดหลักเกณฑ์ "จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566"
เบี้ยผู้สูงอายุยังจ่ายเกณฑ์เดิม ไม่มีเบี้ยพิเศษรายปีคนละ 1,000 บาท
ครม.คืนเงินให้ "ผู้สูงอายุ" ที่ได้รับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนสวัสดิการอื่น