ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลอบเข้าระบบกรมขนส่งฯ เปลี่ยนข้อมูลรถสวมทะเบียนขายต่อเล่มละล้าน

อาชญากรรม
4 ส.ค. 66
12:11
2,709
Logo Thai PBS
ลอบเข้าระบบกรมขนส่งฯ เปลี่ยนข้อมูลรถสวมทะเบียนขายต่อเล่มละล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการขนส่งทางบก พบบุคคลภายนอกลักลอบใช้รหัสผ่านเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์-รถจักรยานยนต์ รวม 65 คัน เพื่อให้ออกเล่มทะเบียนใหม่ จากนั้นนำไปขายต่อเล่มละ 1 ล้านบาทจับผู้ต้องหาได้ 2 คน เตรียมเรียกนักแสดง อักษร ย่อ "ม." ให้ข้อมูลพบเอี่ยวซื้อรถคลาสสิก

ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้แถลงผลการติดตามยึดรถยนต์หรูของผู้ครอบครองที่ต้องสงสัยว่า มีการสวมทะเบียนรถ หลังได้รับการร้องเรียนจากกรมการขนส่งทางบกว่า มีการลักลอบเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถในระบบถึง 65 คัน ตำรวจติดตามรถยนต์มาได้แล้ว 16 คัน รวมทั้งซากรถยนต์เก่า ที่ถูกนำไปสวมเป็นทะเบียนของรถยนต์หรูที่มีสภาพใกล้เคียงกับซากรถยนต์เดิม

นายจิรุตม์ วิศาลวิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบสภาพรถยนต์ กรมการขนส่งทางบก ได้ตรวจสอบพบว่า มีผู้ลักลอบเข้าใช้รหัสผ่านตั้งแต่กลางปี 2565 จึงประสานข้อมูลตำรวจ จนตำรวจติดตามจับได้ 2 คน คือนายเสถียร และนายศริสร โดยผู้ต้องหา อ้างว่า แอบดูรหัสของเจ้าหน้าที่ และเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลของรถยนต์ ก่อนจะแจ้งเล่มทะเบียนรถหาย จากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ออกเล่มทะเบียนให้ใหม่ ก่อนนำไปขายต่อในราคาเล่มละ 1 ล้านบาท

ตามปกติแล้วจะต้องแก้ไขข้อมูลภายในสำนักงาน แต่อาจจะมีการเดินเข้าไปติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถสังเกตเห็นรหัสผ่านของเจ้าหน้าที่ได้ เรื่องนี้ทางกรมฯ จะนำข้อมูลไปปรับปรุงวิธีการทำงาน โดยให้มีการทำงานที่ห่างไกลจากการติดต่อมากขึ้น เพื่อให้ไม่สามารถมองเห็นขณะเจ้าหน้าที่กดรหัสเข้าไปในระบบได้

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การเข้าระบบตรวจสอบสภาพรถยนต์ของทางกรมฯ จะต้องเข้าระบบอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ LAN ต่อมาในช่วงหลังมีการอำนวยความสะดวกให้ใช้เจ้าหน้าที่ใช้แท็บเล็ตเข้าระบบตรวจสอบรถได้ ก็จะต้องล็อกอินเข้าระบบด้วย WI-FI ของกรมฯ ได้

เช่นเดียวกับบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการสามารถเข้าใช้ WI-FI ได้ แต่ก็ต้องลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ลักลอบเข้าไปในระบบของเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีนี้ 

แต่รหัสผ่านที่จะเข้าใช้ในระบบ เจ้าหน้าที่จะต้องเปลี่ยนทุก 3 เดือน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ขณะนี้ก็ได้เน้นย้ำให้หน่วยดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และต้องเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ใช้บริการแล้ว

การสืบสวน ตำรวจพบว่า ผู้ต้องหาทำอาชีพรับซื้อเล่มทะเบียนรถยนต์ และเข้า-ออก กรมการขนส่งทางบกมานานกว่า 20 ปี จึงรู้ช่องทางเป็นอย่างดี โดยกลุ่มนี้ทำอยู่ใน 3 รูปแบบ คือ

- กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลรถยนต์ที่ไม่มีมูลมูลค่า เปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก่อนที่จะนำเล่มทะเบียนไปขายเล่มละประมาณ 1 ล้านบาท

- กลุ่มที่ 2 คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียน จากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์เองเพราะสามารถยึดที่ปั้มเพลตรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ 1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท

- ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียนแล้ว แต่จดทะเบียนไม่ได้ (รถที่ลักลอบนำเข้าหลังปี 2557) จึงว่าจ้างให้ไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4 - 2 ล้านบาท

พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวฯ บช.สอท. กล่าวว่า เมื่อมีผู้ต้องการได้รถและทราบว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้ที่ทำการแก้ไขข้อมูลในระบบได้ ก็จะว่าจ้างผู้ต้องหาให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขข้อมูลของรถในเล่มที่เบียนให้ตรงกับที่ตัวเองมีอยู่

เราจะเห็นได้ชัดเจนว่ารถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ที่ยึดมาได้ เดิมเป็นรถยี่ห้อ หรือ รุ่นที่ไม่มีมูลค่าอะไรมาก แต่พอเปลี่ยนยี่ห้อที่เป็นที่นิยมก็จะมีมูลค่าขึ้นมา ถ้าเป็นรถยนต์จะว่าจ้างกันประมาณคันละ 1.4 - 2 ล้านบาท

ขณะที่ รหัสผ่านเข้าระบบของกรมการขนส่งทางบก ตำรวจพบว่า มีเจ้าหน้าที่รู้รหัสอยู่ทั้งหมด 7 คน แต่อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า ไม่มีการซื้อขายรหัสผ่านให้กับบุคคลภายนอก แต่ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง รวมทั้งตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

เบื้องต้น ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอยู่ระหว่างขยายผลผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเรียกมาสอบสวน และนำรถยนต์ต้องสงสัยมาตรวจสอบด้วย

มีรายงานว่ามีนักแสดง อักษร ย่อ "ม.ม้า" เข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์คลาสสิกที่สวมทะเบียนอยู่ด้วย ซึ่งตำรวจเตรียมเรียกมาสอบสวน รวมทั้งต้องขอข้อมูลจากกรมศุลกากรมาขยายผลเพิ่มเติม ถึงการลักลอบนำเข้ารถยนต์หรูแบบผิดกฎหมาย

User Name และ Password ของเจ้าหน้าที่ 7 คน ในการเข้าระบบแก้ไขข้อมูลรถยนต์ 65 คัน พบว่า มีเพียง 1 คน เท่านั้นอีก 6 คน มีการเข้าระบบแล้วแต่ยังไม่มีการแก้ไขข้อมูลรถยนต์ คิดว่า ผู้ต้องหาใช้ชื่อของเพียงคนเดียวซ้ำ ๆ มามากแล้วจะทำให้ผิดสังเกต จึงต้องไปนำรหัสผ่านของคนอื่นมาเข้าระบบแทน แต่ยังไม่มีการใช้แก้ไขข้อมูล

นอกจากนี้ การตรวจค้นของตำรวจได้เข้าไปตรวจสอบรวมแล้ว 35 จุด พบการแก้ไขข้อมูลรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวม 65 คัน ดังนี้ 

รถยนต์ จำนวน 57 คัน  มีแต่เล่มจำนวน 32 คัน มีแต่รถ 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 13 คัน ถูกสวมชื่อ 9 คัน, รถจักรยานยนต์ จำนวน 8 คัน มีแต่เล่ม จำนวน 2 คัน มีแต่รถ  - คัน มีรถพร้อมเล่ม 1 คัน ถูกสวมชื่อ 6 คัน  รวม จำนวน 65 คัน มีแต่เล่มจำนวน 34 คัน มีแต่รถ 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 14 คัน ถูกสวมชื่อ 15 คัน รวมมูลค่าเสียหาย 77.35 ล้านบาท

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ทั้ง 2 คน จะได้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอยื่นประกันตัวในชั้นศาลที่ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง เบื้องต้นพบว่าได้หลบหนีไปแล้ว

เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง