ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันเข้าพรรษา 2567 พร้อมบทสวด "ถวายเทียนพรรษา" ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงส์ 8 อย่าง

สังคม
27 ก.ค. 66
19:05
51,219
Logo Thai PBS
วันเข้าพรรษา 2567  พร้อมบทสวด "ถวายเทียนพรรษา" ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงส์ 8 อย่าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันเข้าพรรษา 2567 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านาน หนึ่งในประเพณีที่สืบทอดและสานต่อกันมา คือ “การถวายเทียนจำนำพรรษา” เพื่อรับอานิสงส์ 8 ข้อ

วันเข้าพรรษา ปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2567 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันหยุดราชการ โดยพระสงฆ์นิกายเถรวาทจะจำพรรษาที่วัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8  และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา

"พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน

"จำ" แปลว่า พักอยู่

คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ประจำที่วัด เป็นเวลา 3 เดือน

อ่านข่าว : วันเข้าพรรษา 2566 ประวัติและความสำคัญ

พระสงฆ์

พระสงฆ์

พระสงฆ์

วันเข้าพรรษาเป็นวันที่ต่อเนื่องมาจาก วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบสานต่อกันมาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย หนึ่งในนั้นคือ "การถวายเทียนพรรษา" 

อดีตตอนยังไม่มีไฟฟ้า พระภิกษุไม่สามารถเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ต้องอยู่จำพรรษาที่วัด ทำให้ประกอบศาสนกิจต่าง ๆ ในช่วงรุ่งเช้า และพลบค่ำไม่สะดวกเนื่องจากต้องใช้เทียนจำนวนมาก จึงได้มีการจัดเทียนไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษา

อ่านข่าว : รวมคำบูชา - คำถวาย ในพิธีทางพระ วันอาสาฬหบูชา - เข้าพรรษา 2567

วิวัฒนาการการหล่อเทียนพรรษา 

เทียนพรรษา เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไป ถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็น ผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจ แสงสว่างของดวงเทียน

เทียนพรรษา คือ เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สำหรับจุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)

อ้างอิง : สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

การทำเทียนพรรษา มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการนำรังผึ้งมาต้มเอาขี้ผึ้งไปฟั่น เป็นเทียนนำไปถวายพระภิกษุ เอาเทียนเล่มเล็ก ๆ หลาย ๆ เล่ม มามัดรวมกันเป็นลำต้นคล้ายกับ ต้นกล้วย หรือ ลำไม้ไผ่ แล้วนำไปติดกับฐาน ซึ่งการมัดรวมกันแบบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่นิยมเรียกว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา

ต้นเทียนพรรษาประเภทแรก คือ "มัดรวมติดลาย" เป็นการเอาเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัด รวมกันบนแกนไม้ไผ่ให้เป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ แล้วตัดกระดาษเงิน กระดาษทองเป็นลายต่าง ๆ ติดประดับโดยรอบต้นเทียน

ต่อมามีการคิดทำต้นเทียนเป็นต้นเดี่ยว เพื่อใช้จุดให้ได้นาน โดยการใช้ลำไม้ไผ่ที่ทะลุปล้องเป็นแบบหล่อ เมื่อหล่อเทียนเป็นต้นเสร็จแล้วจึงนำมาติดที่ฐาน และจัด ขบวนแห่เทียนไปถวายพระที่วัด

พระสงฆ์

พระสงฆ์

พระสงฆ์

การตกแต่งต้นเทียน เริ่มมีขึ้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ขี้ผึ้งลนไฟหรือตากแดดให้อ่อน แล้วปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือเอาขี้ผึ้งไปต้มให้ละลาย แล้วใช้ผลมะละกอ หรือ ผล ฟักทองนำมาแกะเป็นลวดลาย ใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น แกะขี้ผึ้งออกจากแบบ ตัดและตกแต่งให้สวยงามนำไปติดที่ต้นเทียนการทำเทียนพรรษามีวิวัฒนาการเรื่อยมาไม่หยุดนิ่ง

ในปี 2511 ผู้คนได้พบเห็น ต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่และสูงขึ้น มีการแกะสลักลวดลายในส่วนลำต้นอย่างวิจิตรพิสดาร ในส่วนฐานก็มีการสร้างหุ่นแสดงเรื่องราวทางศาสนา และความเป็นไปในสังคมขณะนั้น กลายเป็น ประติมากรรมเทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ 

งานประเพณีแห่เทียนพรรษา

การนำเทียนไปถวายชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี ทั้งนี้นับว่าเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น ส่วนการจัดขวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายขอขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็น เครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ  

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบอาชีพในวิถีชีวิต ประจำวันทั้งสิ้น

คำถวายเทียนพรรษา 

ยัคเฆ ภันเต, สังโฆ ปะฏิชานาตุ, มะยัง ภันเต, เอตัง ปะทีปะยุคัง, สะปะริวารัง, เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ, อิมัสสะหมิงอะโปสะถาคาเร

นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, อะยัง เตมาสัง, พุทธัสสะ, ปูชะนัตถายะ, ปะทีปะยุคัสสะ, ทานัสสะ

อานิสังโส, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุอาทีนัญจะ, ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่ เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

เทียน

เทียน

เทียน

อานิสงส์ของการถวายเทียนพรรษา

การถวายเทียนพรรษานี้เป็นโบราณประเพณีที่ทำสืบทอดมาช้านานเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา ภิกษุต้องจำพรรษาในอาวาสของตน 3 เดือน พุทธศาสนิกชนนำเทียนไปถวายพระสงฆ์แล้วท่านจะได้จุดบูชาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงส์ คือ

1. ทำให้เกิดปัญญาทั้งชาตินี้ และชาติหน้าเปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน

2. ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ

3. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี

4. เจริญไปด้วยมิตรบริวาร

5. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย

6. เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว

7. เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์

8. หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน

พระพุทธรูป

พระพุทธรูป

พระพุทธรูป

นอกจากนี้ยังมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยมาช้านาน เช่น ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน เป็นต้น

เทศกาลเข้าพรรษานี้ ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษ บางคนตั้งใจทำความดี งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษาตั้งสัตย์ปฏิญาณเลิกอบายมุขและความชั่ว จึงนับเป็นบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันหยุดเดือนสิงหาคม 2566 เช็กวันหยุดยาว วันหยุดธนาคาร วันพระ

อัปเดตครึ่งปีหลัง! ปฏิทินวันจ่ายเงินเดือน ขรก. เงินบำนาญ เงินเดือนทหาร ออกวันไหน?

เคาะเพิ่ม! 31 ก.ค.66 วันหยุดกรณีพิเศษ ทำให้หยุดยาว 6 วันติด 28 ก.ค.-2 ส.ค.

ประวัติความเป็นมา "วันอาสาฬหบูชา" ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

ข่าวที่เกี่ยวข้อง