ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครว่า “ก้าวไกล” เป็นละอ่อนการเมือง ปมมติรัฐสภาเหนือกว่า รธน.

การเมือง
26 ก.ค. 66
10:32
2,200
Logo Thai PBS
ใครว่า “ก้าวไกล” เป็นละอ่อนการเมือง ปมมติรัฐสภาเหนือกว่า รธน.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่น่าแปลกใจที่เสียงขานรับจะมีมาก ทันทีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ปมรัฐสภามีมติเสียงข้างมากว่า การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ทำไม่ได้

เพราะเป็นญัตติ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อน

ทั้งคนในแวดวงกฎหมาย นักการเมืองและคนในแวดวงการเมือง ประชาชนทั่วไปที่สงสัยในท่าทีของ สว. รวมทั้งพรรคก้าวไกลและเอฟซี ที่รู้สึกว่าโดนปล้นความเป็นธรรมไปจากมติดังกล่าว จนนายพิธาหมดโอกาสที่จะถูกเสนอชื่อให้โหวตเลือกเป็นรอบที่ 2

เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งพิจารณาว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย หรือเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ รวมถึงมีเหตุต้องป้องกันความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงอันใกล้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่

คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อรับ-ไม่รับไว้วินิจฉัย เพราะตระหนักดีว่า เป็นเรื่องด่วน มีผลต่อการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ต่างจากคำร้องของ กกต.เรื่องสถานภาพการเป็น สส.ของนายพิธา ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดการทำหน้าที่ สส.ไว้ก่อน

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องดีสำหรับพรรคก้าวไกล เพราะสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้อง ทวงขอความเป็นธรรมจากมติวันที่ 19 ก.ค.ได้

อย่างน้อยที่สุด ทำให้ยังมีโอกาสเสนอชื่อนายพิธา ให้รัฐสภาโหวตเลือกในรอบที่ 2 ตามสิทธิที่พึงจะได้รับ แม้ว่าเสียงโหวตจากที่ประชุม อาจไม่สามารถผ่านด่านสุดหินของ สว.ได้อีกเช่นครั้งแรก

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

แต่ถือว่าได้ลองแล้ว และเป็นการทวงบรรทัดฐาน ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ได้มากกว่า 1 ครั้ง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว และอาจมีครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ได้ ดังที่กูรูหลายท่านได้พยายามอธิบายไว้

แม้เป็นความหวังริบหรี่ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้มากว่า แนวทางเสนอให้ยื้อเวลาโหวตเลือกนายกฯ ออกไปอีก 10 เดือน รอ สว.ชุดปัจจุบันพ้นวาระในเดือนพฤษภาคมปี 2567 ไปก่อน

ดังที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เสนอ แม้ว่าแนวทางนี้ จะมีเสียงขานรับจากประชาชนบางส่วนที่พร้อมจะรอ แต่ในภาคภาคธุรกิจกลับไม่เห็นด้วยนัก เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องแก้ไขฟื้นฟู ยังไม่นับว่า จะใช้ช่องทางใดเพื่อดึงเวลาออกไปอีก 10 เดือน

แต่ประโยชน์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก หากศาลรับเรื่องไว้รับพิจารณา คือความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ จะคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่โดนบิดเบี้ยว หรือปล่อยให้มีกฎหมายที่ลำดับชั้นต่ำกว่ามาทำให้รัฐธรรมนูญเป็นง่อย ดังคำพูดของ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าฯ โพสต์เตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกลใช่ว่าจะถอดใจหรือถอนตัวจาก 8 พรรคการเมือง โดยใช้วิธีการย้อนศร คือการรับปากยืนยันจะก้าวร่วมทางไปด้วยกัน ไม่มีแยกหรือถอนตัว ทั้งนายพิธา ยังทวงถาม และแสดงความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยยังยึดคำมั่นสัญญาเดิม ทำให้พรรคเพื่อไทยยังหาทางออกสำหรับปัญหานี้ไม่ได้

ถึงขั้นมีข่าวจะเสนอขอเลื่อนการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปจากวันที่ 27 ก.ค.ขณะที่ลึกลงไปในพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังไม่มั่นใจว่า การส่งแคนดิเดตนายกฯ คนแรก และรอบแรกของพรรคเพื่อไทย จะสามารถฝ่าด่าน สว.ได้หรือไม่ หาก 8 พรรคยัง ไม่สามารถสลัดพรรคก้าวไกลออกไปได้ อนาคตนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ช่วงหลังๆ โดนสปอตไลท์สาดส่องให้โดดเด่นกว่าใครเพื่อน ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ แต่มีโอกาสตกรอบตกสวรรค์ได้เช่นกัน

ดังนั้นใครว่าพรรคก้าวไกลละอ่อนทางการเมือง คงต้องคิดใหม่ทำใหม่ได้แล้ว

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง