วันนี้ (18 ก.ค.2566) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวก่อนการประชุมร่วมกับผู้แทนพรรคการเมือง และวิปวุฒิสภา เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค)
ถึงกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนไม่เห็นด้วยหาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจาก ถูกรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบไปแล้วว่า 8 พรรคร่วม ได้ตีความร่วมกันแล้วว่า
ไม่สามารถตีความการเสนอชื่อนายพิธา เป็นญัตติได้ เพราะกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติขั้นตอนและหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน คล้ายกับการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระซึ่งบางครั้งก็มีการเสนอชื่อซ้ำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้ พรรคก้าวไกลจะให้สิทธิการจัดตั้งรัฐบาลแก่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า 8 พรรคร่วม ยังไม่ได้มีการหารือกันในประเด็นดังกล่าว แต่พรรคก้าวไกลมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ
หากมีการลงมติครั้งที่ 2 ไปแล้ว แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้ทันการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 หรือพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสแล้วจริง ๆ พรรคก้าวไกล ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
แต่หากมติที่พรรคก้าวไกลได้รับเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ พรรคก้าวไกล ก็จะยังคงเดินหน้าต่อในการลงมติครั้งที่ 3 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมฯ สำเร็จ
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล
นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงกรณีที่หากพรรคร่วมเสียงข้างน้อย เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยว่า พรรคก้าวไกล ไม่ได้กังวลและได้ติดตามสถานการณ์ตลอด
เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้แม้จะสามารถเสนอชื่อได้ แต่ไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ และ 10 พรรคร่วม 188 เสียงก็ไม่มีเอกภาพในเรื่องดังกล่าวจึงไม่น่ากังวลใด ๆ
ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อพิจารณารับคำร้องการ ถือครองหุ้นสื่อฯของนายพิธา หลัง กกต.ได้เรื่องไปก่อนหน้านี้ วิป 3 ฝ่ายจะมีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่
นายชัยธวัชกล่าวว่า ที่ประชุมไม่น่าจะหารือกันเพราะไม่ได้เกี่ยวกับข้องกระบวนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี 2562 ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาในขณะนั้นด้วย
นายชัยธวัช ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีการติดต่อกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพูดคุยถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตนเพียงแต่ได้พยายามติดต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสอบถามท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายเฉลิมชัยไม่ได้รับสาย หลังเกิดกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่ใช่การรวมเสียงกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ประวิตร" ยิ้ม ไม่ตอบเสนอชื่อแข่ง "พิธา" - "วราวุธ" งงข่าวทาบร่วม รบ.
2 สมรภูมิพรรคก้าวไกล เดิมพันสูงวัดใจ “พท.-ส.ว.”
"เสรีพิศุทธ์" บอกคุย ชทพ. - ปชป. ไม่ใช่มติพรรคร่วม แต่ต้องช่วยก้าวไกล