ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ว่าด้วยการปิดสวิทซ์ ส.ว. ต้องใช้ 84 เสียง หรือ 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งในวาระแรก และวาระที่ 3 ยังไม่รวมต้องได้เสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน รวมกันอีกไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดว่าใครจะเป็นฝ่ายรัฐบาลและใครจะเป็นฝ่ายค้าน
จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเดินหน้าสู้สุดกำลัง เพราะครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกอย่าง ส.ว.หรือพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่ยังไม่มีการออกโรงปฏิเสธว่า จะไม่มีส่งชื่อชิงแคนดิเดตนายกฯ 19 ก.ค.แต่ยังรวมถึง 8 พรรคร่วมรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย
แม้จะมีการประกาศจับมือเป็นมัดข้าวต้ม แต่สำหรับเสนอชื่อในรอบที่ 2 ทางพรรคเพื่อไทยกลับย้ำว่า “ต้องให้รอเคาะพร้อมกับพรรคการเมืองอื่น ในการประชุมร่วมวันที่ 18 ก.ค.” ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า อาจส่งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นชิงแทน แม้นายเศรษฐาจะออกมาปฏิเสธ แต่ยังโบ้ยรอให้ 8 พรรคเคาะชื่อร่วมกันก่อนว่าจะออกที่ใคร
ทั้งนี้หากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมส่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ชูสโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” หรือส่งคนใดคนหนึ่งจากแคนดิเดทพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ลงชิงเก้าอี้นายกฯ ด้วย หากมีการโหวตเสียง และได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. สถานการณ์ทางการเมืองอาจเปลี่ยนได้ทันที
แม้บางพรรคจะย้ำจุดยืน ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่เสียงข้างน้อยอาจเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากได้ หากมีงูเห่าหรือ "ลิงกินกล้วย” เกิดขึ้นเหมือนช่วงท้ายๆ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้
ตัวแปรสำคัญจึงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย จะยังอยู่ร่วมสมการทางการเมืองอย่างไร เพราะถึงอย่างไรต้องเป็นฝ่ายรัฐบาลให้ได้ เนื่องจากจะมีพันธกิจเรื่องคนแดนไกลกลับประเทศเลี้ยงหลานค้ำคออยู่ และเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องวัดใจพรรคเพื่อไทย ว่าจะยังร่วมหัวจมท้ายด้วยกันต่อไปหรือไม่
ส่วนคะแนนเสียงจาก ส.ว.ก็มองข้ามไม่ได้ การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิทซ์ ส.ว. ยิ่งไม่ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อพรรค แม้แกนนำในพรรคจะอ้างเหตุผล เพื่อตัดปัญหาความกระอักกระอ่วนใจของ ส.ว.ที่พบแรงกดดันจากกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม หวังให้โหวตต้านนายพิธา ถึงขั้นเบี้ยวประชุมกว่า 40 คน แต่ ส.ว.ที่ถูกพาดพิงถึงนั้น จะกระอักกระอ่วนใจจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเข้าใจของพรรคก้าวไกล หรือเพื่อหวังส่งแรงกดดันไปยัง ส.ว.กันแน่
นอกจากนี้ ระหว่างที่ต้องหวังลุ้นเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. กลับมีปฏิบัติการ “ล่าแม่มด” ทั้งจากพรรคก้าวไกล และการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนในชื่อคาร์ม็อบ นำโดยนายอานนท์ นำภา อดีตแกนนำกลุ่มราษฎร ที่รวมพลตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังเหล่าทัพต่าง ๆ เรียกร้อง ส.ว.ที่เป็น ผบ.เหล่าทัพ รวมทั้งโปรยหนังสือลาออกจาก ส.ว.พ่วงตามไปด้วย เหตุไม่ทำหน้าที่เลือกนายกฯ ตามฉันทามติประชาชน
ถือเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องของมวลชนที่ให้การสนับสนุนนายพิธา และพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุผลเชื่อว่า ประชาชนเทคะแนนเลือกพรรคก้าวไกลและนายพิธาให้เป็นนายกฯ แล้วเหตุใดส.ว.ยังคงขัดขวาง ไม่เคารพมติของประชาชน
และก่อนหน้านี้ได้ติด #กิจการส.ว. จนเป็นเทรนด์ติดอันดับต้นๆของทวิตเตอร์ กระทั่งมีส.ว.บางส่วนออกมาตอบโต้ และบางส่วนขู่จะแจ้งความดำเนินคดีข้อหาข่มขู่คุกคามบุลลี่คนอื่น
แต่หากมองในเชิงบวก การเคลื่อนไหวของมวลชนเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางประชาธิปไตยที่สามารถทำได้ ถือเป็นการแสดงออกถึงแนวทางประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่สร้างความรุนแรงหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
ดีกว่าการบุกรุกทำลายข้าวของอย่างไม่มีเหตุผล หรือปล่อยกระทำการที่เข้าข่ายก่อจลาจล คือไม่บานปลายเกินกว่าจะควบคุม หรือปฏิเสธการปะทะกับทางเจ้าหน้าที่ เพราะอาจโดนย้อนศร เข้าข่ายยุงยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ที่เคยถูกนำมาใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้
แต่เป็นการประท้วงทวงถามประชาธิปไตย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถ่ายทอดสด โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค.66 จับตา “พิธา” ได้เสียงเพิ่มหรือไม่