หลังเป็นกระแสข้ามคืน เมื่อซีรีส์ King The Land Ep.10 เป็นตอนที่พระเอกให้รางวัลพนักงานยอดเยี่ยมโดยการให้ทริปท่องเที่ยว รวมถึงความสัมพันธ์ที่คืบหน้าของ "ซาราง" และ "กูวอน" ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ทำเอาแฟนๆ คอละครเกาหลีจิกหมอนไม่ไหวไปทั้งประเทศ และยังชื่นชมการนำเสนอของซีรีส์ที่ถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวในไทย รวมถึงอาหารยอดนิยมที่เป็นเมนูยอดฮิตของชาวต่างชาติ
"สบายๆ" เสน่ห์ที่ต่างชาติหลงรัก
ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ อ.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนเกาหลีเข้าใจความหมายของคำว่า "สบายๆ" เป็นอย่างดี และชื่นชอบความเป็นคนสบายๆ ของคนไทยเป็นอย่างมาก

ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ปธ.ศูนย์เกาหลีศึกษา ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.
ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ปธ.ศูนย์เกาหลีศึกษา ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ.
"ปัลลี ปัลลี (빨리 빨리)" ภาษาเกาหลีแปลว่า "เร็วๆ" ความหมายตรงข้ามกับ "สบายๆ" เกิดขึ้นในยุค 60-70 หลังจากจบสงคราม คือการทำปลูกฝังให้คนทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว เพื่อเร่งพัฒนาประเทศ
ดังนั้น เมื่อคนเกาหลีมาเจอ ความเป็นกันเองของคนไทย จึงรู้สึกประทับใจและใช้คำพูดติดปากว่า "สบายๆ" และเป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ชาวเกาหลีที่มาทำงานในประเทศไทย "ไม่อยากกลับประเทศตัวเอง" เพราะไม่อยากเผชิญกับแรงกดดันทางสังคม ปัลลี ปัลลี
ซึ่งก็ตรงกับฉากในซีรีส์ที่ชาวแกงค์นั่งรวมตัวพูดคุยถึงความเป็นกันเองของคนไทย รวมถึงความหมายของคำว่า "สบาย"
อย่าใช้ชีวิตแบบรีบร้อนหรือวุ่นวายจนเกินไป แต่ค่อยเป็นค่อยไปทีละนิดและผ่อนคลายสักหน่อย

ซาราง อธิบายความหมายของคำว่า สบาย
ซาราง อธิบายความหมายของคำว่า สบาย
ประเทศไทยคือสวรรค์แห่งของกินจริงๆ
อ.ไพบูลย์ เห็นด้วยกับประโยคที่ "ซาราง" พูดขณะอยู่ที่คลองโอ่งอ่างเป็นอย่างมาก ในมุมมองของชาวเกาหลีมองว่าประเทศไทยเป็น Food Hub ด้วยเหตุผล 2 ประการ
- อาหารไทยจะอร่อยไม่ได้หากไม่มีการไหลของวัตถุดิบและเครื่องเทศ เนื่องจากภูมิประเทศของไทยคือแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่เกาะทั้งประเทศ รวมถึงสภาพอากาศในเขตเส้นศูนย์สูตร ทำให้ไทยสามารถปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ได้แทบทุกชนิดตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับเกาหลีที่จะปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ได้ตามฤดูกาลเท่านั้น
- วิธีการทำ พ่อครัว หรือ เชฟในประเทศไทยจะเปิดกว้างเรียนรู้เทคนิคการทำอาหารจากหลากหลายประเทศ อาทิ จีน, อินเดีย ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็พบว่ายามในขณะนั้นเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติมากมายเข้ามาในประเทศ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางอาหารขึ้น ในทางกลับกัน อาหารเกาหลีเองแม้จะดูหลากหลาย แต่หลากหลายเชิง Motivation หรือการต่อยอดพัฒนาเหมือนมีเยอะ แต่แท้ที่จริงประเภทอาหารยังคงที่หรืออาจจะเพิ่มขึ้นนิดเดียว
อาหารเกาหลีมีความอนุรักษ์นิยมซ่อนอยู่ (Conservative) กิมจิก็ยังเป็นกิมจิ แต่เปลี่ยนแค่วัตถุดิบที่ใช้ หรือ บูลโกกิ ก็คือเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง วันหนึ่งเป็นเนื้อหมู ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นหมูสไลด์ สามชั้น หรือเนื้อวัว

ตัวเอกกำลังพูดถึงอาหารไทยและยกให้เป็นสวรรค์แห่งของกิน
ตัวเอกกำลังพูดถึงอาหารไทยและยกให้เป็นสวรรค์แห่งของกิน
สิ่งที่ชาวเกาหลีประทับใจอาหารไทยอีกอย่างคือ สตรีทฟู้ดของไทย ในเกาหลีมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการตามรอยร้านอาหารข้างทางในไทย แต่ละย่านเยอะมาก และเป็นหนึ่งในแผนการท่องเที่ยวที่ชาวเกาหลีต้องวางแผนเมื่อเดินทางมาเที่ยวไทย
อ่าน : ชาวเน็ตเตรียมตามรอย "King The Land" ตอนเดียวเที่ยวทั่วกรุง
K-Series VS T-Series
ในแง่ของอุตสาหกรรมละคร-ภาพยนตร์ ม.ร.ว.ฉลิมชาตรี ยุคล หรือ "คุณชายอดัม" ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าได้เห็นความเคลื่อนไหวของละคร หรือ ภาพยนตร์ไทยที่เริ่มปรับตัวเข้าใกล้กับซีรีส์เกาหลีมากพอควร ทั้งเสื้อผ้า ฉาก แสง มุมกล้อง และมองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เรื่องที่ไม่ควรทำ หรือการลอกเลียนแบบแต่อย่างใด
หลายประเทศก็ทำ จีนก็เคยเลียนแบบกระแสซีรีส์อเมริกา หลายประเทศทางอเมริกาใต้ก็ทำ สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หากล้มหรือผิดพลาดก็สามารถนำไปสู่ความเข้าใจในการจัดการครั้งต่อไปได้

คุณชายอดัม ม.ร.ว.ฉลิมชาตรี ยุคล
คุณชายอดัม ม.ร.ว.ฉลิมชาตรี ยุคล
และไม่ใช่แค่กองถ่ายเกาหลีที่เลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ แต่ประเทศไทยยังถูกเลือกจากอินเดีย, รัสเซีย, ฝรั่งเศส และอีกมากมาย นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศ มองว่าไทยก็มีศักยภาพที่ดีมากในสายตาต่างชาติ
"พล็อตน้ำเน่า" ไม่ได้มีแค่ละครไทย
แง่คิดที่เปิดกว้างของ "คุณชายอดัม" สะท้อนให้เห็นว่า ซีรีส์หรือละครคือการสะท้อนทางวัฒนธรรมของประเทศ แม้ทุกวันนี้จะมีละครไทยที่มีเนื้อหาดรามา หรือที่หลายคนเรียก "ละครน้ำเน่า" แต่ก็ใช่ว่าประเทศอื่นจะไม่มี แม้กระทั่งซีรีส์เกาหลีก็ยังมีและเนื้อหาเข้มข้นมากกว่าของไทยอีกด้วยซ้ำ
รวมถึงสนับสนุนให้บทละครของไทย ยังคงมีหลากหลายเช่นนี้ต่อไป เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมที่ชื่นชอบละครหลากหลายแนว
ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ คือศิลปะที่มีความหลากหลาย ควรนำเสนอต่อผู้ชมที่ชื่นชอบให้ได้หลายๆ กลุ่ม นับเป็นการเคารพต่อผู้ชม
ไทยกำลังสร้างความต่อเนื่อง
จุดอ่อนที่แข็งมากของการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยให้ไปไกลระดับโลกได้นั้น คุณชายอดัม ระบุว่าไม่ได้เป็นเรื่องของโปรดักชั่น นักแสดง บท แต่อย่างใด แต่อยู่ที่ "ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง"
ไทยยังทำแผน Single Player มากเกินไป ถ้าจะสนับสนุนใครก็ดันอยู่คนนั้นคนเดียว ทั้งๆ ที่มีผู้อยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ทั้งผู้เขียนบท ผู้กำกับ ที่สร้างผลงานอีกจำนวนมาก
"องค์บาก" คือภาพยนตร์แนว Martial Art (ศิลปะการต่อสู้) ที่นับเป็นความสำเร็จของไทยที่บุกเบิกอุตสาหกรรมบันเทิงโลกให้สร้างภาพยนตร์แนวนี้ เช่น John Wick, Mortal Kombat เป็นต้น แต่ของไทยกลับขาดความต่อเนื่องที่จะทำภาพยนตร์แนวนี้ออกมาอีก ส่วนหนึ่งอาจมาจากความกลัวที่จะประสบความสำเร็จน้อยกว่า
ในขณะที่ต่างประเทศ ใช้เงินจำนวนมากถึง 60-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการโปรโมทภาพยนตร์สักเรื่อง เช่นภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Parasite ที่ใช้เงินโปรโมทจำนวนมาก แต่ต้องอาศัยความกล้าผนวกเข้าไปด้วย "ถ้ามั่นใจว่าเรื่องที่ทำดีจริง ก็ต้องกล้าลงทุน" แต่ถ้าไม่มั่นใจก็อย่าลงทุนเลย เพราะจะขาดทุนเสียเองเปล่าๆ
ส่วนแผนการโปรโมทโดยผ่านกลุ่มแฟนคลับนั้น ก็นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ของไทยไปไกลทั่วโลก แต่ก็จะไปได้เฉพาะทาง เฉพาะกลุ่ม
อยากให้อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยสร้างความต่อเนื่องให้กับผลงานทุกแนว ให้ต่อเนื่อง 5ปี 10ปี 20ปี ไปก่อน แล้วเราจะมีฐานคนดูและรายได้ที่ต่อเนื่องตามมา
รู้หรือไม่ : ซีรีส์ King The Land ถ่ายทำในไทย ได้รับอนุญาตถ่ายทำจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ TFO Thailand Film Office กรมการท่องเที่ยว คนละหน่วยงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. แต่อยู่ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเดียวกัน
อ่านข่าวอื่น :