กระแสหลังจากวันนั้นแปรผันเรื่อยมา ฉากทัศน์ต่าง ๆ ผุดผ่านปากทั้งบรรดานักวิเคราะห์ นักการเมือง แต่ละพรรคแต่ละคน
วันนี้ (17 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยังกัดไม่ปล่อยกับพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณายับยั้งการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค.นี้
ด้วยเหตุผลว่า นายพิธา ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือถูกตีตกไปแล้ว และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังจะให้โอกาสนายพิธา เป็นครั้งที่ 2 จึงเห็นว่า อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ
“อนุชา” ยันไม่มีแนวคิดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ขณะที่ นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงแนวทางการโหวต ว่า แนวทางของพรรคจะประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) เชื่อว่าไม่มีแนวคิดการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ส่วนประเด็นที่ ส.ว.ระบุห้ามเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบสอง นายอนุชากล่าวว่า คงต้องไปพูดคุยกันในที่ประชุมสภาฯ ซึ่งอำนาจตัดสินใจอยู่ที่สภาฯ ส่วนจะให้โอกาสเสนอชื่อนายพิธา ในการโหวตกี่ครั้ง คงต้องถามส่วนรวม
หากวันที่ 19 ก.ค. ยังเสนอชื่อนายพิธาเช่นเดิม พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีแนวทางอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันที่พรรคอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้ยังไม่เกิด และไม่แน่ชัดว่าจะเสนอใคร แต่ยืนยันว่า หากพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันจะแก้ไขมาตรา 112 ก็จะเดินหน้าไปได้ยากมาก
ส่วนขณะนี้พรรคเพื่อไทยควรเข้ามามีบทบาท ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลต้องไปพูดคุยกันเพื่อหาทางออก และหากพรรคเพื่อไทย มีเงื่อนไขให้พรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล จะยังทำให้มีปัญหาหรือไม่ ก็ต้องไปว่ากันในวันโหวต คงไปบอกแทนใครไม่ได้
การที่พรรคก้าวไกลแก้เกมด้วยการเดินหน้า ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเป็นไปตามวาระและขั้นตอน ส่วนจะผ่านไปได้แค่ไหน ในอดีตก็เห็นอยู่ ซึ่งเดิมทีมีการยื่นแก้ไขมาตราดังกล่าวถึง 6 ครั้ง ส่วนครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันที่สภาฯ ส่วนจะเป็นการแก้เกมของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่รู้มาก่อนว่าจะเดินเกมกันแบบนี้
“ธนกร” ระบุ “อนุทิน” ก็เป็นนายกฯ ได้
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยืนยันว่า การเสนอนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจบไปแล้ว จะไม่มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แข่งในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง
ส่วนที่ 8 พรรค ยังยืนยันจะเสนอชื่อนายพิธา ผมคิดว่าควรเสนอครั้งเดียว เพราะทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ก็ทราบวิสัยทัศน์ของประเทศไทยอยู่แล้ว และควรเปิดโอกาสให้พรรคอันดับสอง มีสิทธิ์เสนอชื่อ
เชื่อว่าพรรคการเมืองทุกฝ่าย ทราบอยู่แล้วว่า ถ้ายังมีก้าวไกลร่วมรัฐบาล ส.ว.ก็จะไม่โหวตให้ และไม่ควรยก 14 ล้านเสียงมาอ้าง ผมเชื่อว่าใน 14 ล้านเสียง อาจมีเป็นล้านเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม. 112 ในเมื่อพรรคก้าวไกล ไม่ถอยฝั่งอื่นก็ไม่ถอยเช่นกัน
หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล จะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติ นายธนกรระบุว่า ต้องคุยกันในพรรค เพราะขณะนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป และเชื่อว่ มีการพูดคุยกันได้มากขึ้นเช่นเดียวกับขั้วรัฐบาลเดิมก็ยังคุยกันตลอด
“หากพรรคอันดับ 1 อันดับ2 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ให้เป็นพรรคอันดับ 3 และถือเป็นความชอบธรรมของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ และคิดว่าไม่ควรใช้เวลานานเกินไป ขออย่าหลอกตัวเองดีกว่า เชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเมืองจะเดินไปแนวทางไหน”
“วราวุธ” ยังสงสัยเสนอ “พิธา” รอบสองได้หรือไม่
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงท่าทีของ 8 พรรคร่วม ที่จะเสนอชื่อนายพิธา รอบสอง ว่า ชาติไทยพัฒนายังสงสัยอยู่ว่า ในเมื่อมีญัตติเสนอชื่อนายพิธาไปรอบแรกแล้ว ยังจะเสนอรอบสองได้อีกหรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมของสภา หากญัตติใดมีการเสนอแล้ว ลงคะแนนจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่น่าเสนอญัตติเดิมได้อีก
ต้องขอดูก่อนว่า ยังจะเสนอญัตติเดิมได้อีกหรือไม่ แล้วจึงจะหารือกันภายในพรรคอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าขัดกับแนวทางการทำงานของสภา เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า ถ้ามีการเสนอชื่อนายพิธารอบสอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชทพ.จะโหวตสวนไปเลย ในเมื่อรอบแรกได้งดออกเสียงไปแล้ว นายวราวุธ กล่าวว่า ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะต้องหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อน เพราะเราทำอะไรจะต้องไปในแนวทางเดียวกัน ไม่อยากจะปล่อยให้ฟรีโหวต เพราะไม่ได้ต่างคนต่างทำงาน เราทำงานด้วยกันในนาม ชทพ.
นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. นายวราวุธ กล่าวว่า มาตรา 272 ในประโยคแรกระบุว่า ภายใน 5 ปีหลังจากใช้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นาน วรรคนี้จะหมดความหมายลง เนื่องจากเลยกำหนดเวลาในบทเฉพาะกาลแล้ว
ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความซับซ้อนและกินเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขแค่มาตรา 272 มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับดีกว่า
“ชทพ.ยังยึดมั่นนโยบาย ซึ่งคล้ายกับอีกหลายพรรคคือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะยึดโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 และเพิ่มเติมปรับปรุงเข้าไปให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะแก้มาตราใดหรือบทใด หัวใจสำคัญของ ชทพ. ต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ใดๆ ทั้งสิ้น
“มณเฑียร” ยังยืนยันโหวตให้ “พิธา”
ขณะที่ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึง จุดยืนในการโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 ว่า ตนยังยืนยันว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีเหตุผลว่า จะต้องเปลี่ยนจุดยืน
สถานการณ์ในวันโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะยังไม่ทราบแนวทางว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิธาออกมาเป็นอย่างไร และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจากวันโหวตนายกฯ รอบแรกหรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาโดยชี้ผิดหรือชี้ถูก ผมจะยังคงยึดหลักการโหวตตามหลักการเดิม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน! 19 ก.ค.ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยหุ้นสื่อ itv "พิธา"
"วราวุธ" รับ "เสรีพิศุทธ์" เทียบเชิญชวนร่วมรัฐบาล "พิธา"
'เศรษฐา' พร้อมรับเป็นนายกฯ หาก 'พิธา' โหวตนายกฯรอบ 2 ไม่ผ่าน