ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประชุมสภา : "พริษฐ์" แจงนโยบายแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ล้มล้าง

การเมือง
13 ก.ค. 66
15:44
1,899
Logo Thai PBS
ประชุมสภา : "พริษฐ์" แจงนโยบายแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ล้มล้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พริษฐ์" แจงนโยบายแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ล้มล้าง แต่หวังสานความสัมพันธ์สถาบัน-ประชาชน ชวน ส.ส.-ส.ว.ตั้งสติโหวต "พิธา" คืนความปกติให้ประเทศ

วันนี้ (13 ก.ค.2566) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.ก้าวไกล ใช้สิทธิชี้แจงกรณีอภิปรายพาดพิง ว่า ข้อกังวล หรือข้อสงสัยต่อการแก้กฎหมายอาญา ม.112 นั้น พรรคก้าวไกลบรรจุนโยบายแก้กฎหมายดังกล่าว โดยมีเจตนาพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และภายใต้หลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะดีขึ้นได้ จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ม.112 เพื่อรักษาสมดุลที่ดีขึ้นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และการคุ้มครองประมุขจากฐานหมิ่นประมาท ซึ่งต้องพูดถึง 3 ปัญหา คือ

1.ปัญหาขอบเขตการบังคับใช้ ม.112 ซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แต่หลายกรณีถูกดำเนินคดีทั้งที่ดูแล้วไม่น่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย จึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเขียนขอบเขตให้ชัดเจนขึ้น แยกระหว่างการแสดงออกโดยสุจริตตามสิทธิเสรีภาพ กับการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นฐานความผิดตามกฎหมาย

2.ปรับอัตราโทษให้ได้สัดส่วนมากขึ้นตามฐานความผิด ซึ่งการกำหนดโทษสูง หรือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับฐานความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

3.การจำกัดสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งการเปิดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์

การเสนอแก้ไขมาตรา 112 พรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง แต่พยายามเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักสากล ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ส่วนข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลไม่เข้าใจระบบการปกครองแบบรัฐสภานั้น นายพริษฐ์ ได้ชวนสมาชิกตั้งสติพร้อมกันว่า คำถามสำคัญในวันนี้ ไม่ใช่การแสดงความเห็นว่ารู้สึกอย่างไรต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่คือคำถามที่ว่า รัฐสภาจะเคารพเสียงของประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้ว

"ข่าวร้ายคือประเทศเรานั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะการเมืองที่เป็นปกติ ซึ่งมีต้นกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากมาตรา 272 คือ ให้ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี มีส่วนในการแทรกแซงให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เราจึงต้องคืนความปกติให้ประเทศไทยเดินไปสู่อนาคต"

นายพริษฐ์ เน้นย้ำว่า เคารพในความเห็นส่วนตัวของ ส.ว. แต่ต้องย้ำว่าหากมีความประสงค์จะคืนความปกติให้กับระบบการเมืองไทย ทางออกนั้นต้องมาใช้การงดออกเสียง หรือการไม่อยู่ในที่ประชุมนี้ แต่คือการให้เสียงเห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เกาะติดการเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยทาง ไทยพีบีเอส หมายเลข 3 และ ทางออนไลน์ www.thaipbs.or.th/live 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชุมสภา : "ชาดา" เดือดกลางสภาท้า "พิธา" ไม่แก้ 112 พร้อมโหวตนายกฯ 

ประชุมสภา : "อดิศร" หนุน "พิธา" นั่งนายกฯ เปรียบ "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ข้าวต้มมัดตั้งรัฐบาล 

ประชุมสภา : "พิธา" ชี้แจงปม "แบ่งแยกดินแดน" ย้ำประเทศไทยใต้การนำเป็น "รัฐเดียว" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง