เผือกร้อนคดีแรกหลังคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ “พิธา” จะสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ รวมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยออกมา
นอกจากคดีดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบทำให้ “พิธา” พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. แล้ว
ยังมีอีกหลายคำร้องที่กำลังถูกตรวจสอบและอยู่ระหว่างการตรวจสอบในเรื่องอื่นๆ จากองค์กรอิสระที่มีหน้าที่และสื่อที่สำคัญรวม 6 คดี ซึ่งทำให้ “พิธา” ก้าวไปไม่ถึงฝั่งฝัน
-คดีขายที่ดินจำนวน 14 ไร่ ที่ ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งที่ดินแปลงนี้พิธาได้ยื่นแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอนรับตำแหน่ง ส.ส. ปี 2562 ระบุเป็นทรัพย์ที่ "ได้รับมรดก" มูลค่าในขณะนั้น 18 ล้านบาท
ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้เปลี่ยนมือไปแล้วโดยพิธาทำสัญญาขายให้ นายดนัย ศุภการ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใน อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 ราคา 6,500,000 บาท ซึ่งเป็นช่วงหลังจากหลังยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 มี.ค.2566 ประมาณ 7 วัน ขณะที่ราคาที่เจ้าหน้าที่ประเมินราคาที่ดินแปลงนี้อยู่ที่ 8,777,185 บาทหมายความว่า เจ้าของได้จดทะเบียนขายในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน 2,277,185 บาท
-พิธาอาจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไม่ถูกต้องครบถ้วนต่อ ป.ป.ช. โดยไม่แจ้งการถือหุ้นในบริษัท “พรพนา พลัส” ธุรกิจครอบครัวของตระกูล ลิ้มเจริญรัตน์ โดยนายพิธา มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 3 จำนวน 1,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท
-คดีไซฟอนเงิน จากรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีพบบริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ ธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าว ครอบครัวของพิธา ให้กู้ยืมระยะสั้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกันกว่า 117 ล้านบาท (ในช่วงที่พิธาเป็นกรรมการบริษัท 5 ต.ค.49-6 มี.ค.60) แต่ไม่ได้จ่ายหนี้คืน สุดท้ายต้องตัดหนี้สูญ ต่อมาพิธาลาออก ญาติต้องรับภาระแบกหนี้จาก “การไซฟอนเงิน” จนถูกฟ้องร้อง และมีคดีอยู่ที่ศาลล้มละลายกลาง
-หลัง ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของพิธา หลังพ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 พบข้อเท็จจริงที่นายพิธา แจ้งไว้บางส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะต้องห้ามตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
มีการร้องต่อ กกต. ว่า หนังสือ 4 เล่ม คือ หนังสือวิถีก้าวไกล,ความรัก คือการตกหลุมรักหลายๆ ครั้ง, ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน,ด้วยรักจากอนาคตที่เขียน โดยพิธาและผู้อื่น และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
มีลายมือพิธา เขียนว่า มีรายได้จากการขายทรัพย์สิน คือ หนังสือ และมีทรัพย์สินรายการสิทธิและสัมปทาน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้อง
คือ “มาตรา 98 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” และมาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
ดังนั้นการที่นายพิธา แจ้ง ป.ป.ช. ด้วยลายมือตัวเองว่า มีรายได้จากการขายหนังสือ และมีการแจ้งชื่อหนังสือไว้ 4 รายการ ซึ่งนายพิธา เป็นผู้เขียนด้วยตัวเองหรือร่วมกับผู้เขียนอื่นนั้น จะทำให้พิธา เข้าข่ายเป็น “เจ้าของ” ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ จึงขอให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย
-คดีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิก มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง
และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
คดีนี้ล่าสุดอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือตอบกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน กกต.มีมติ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยสมาชิกภาพ "พิธา" ปมถือหุ้นสื่อ