กรณีเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบังถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนบาดเจ็บ 10 คน
วันนี้ (11 ก.ค.2566) ไทยพีบีเอส สำรวจสภาพความเสียหายของอาคารพาณิชย์ที่อยู่ใกล้กับสะพานถล่ม โดยเฉพาะตึกที่โครงเหล็กฟาดเสียหาย พบว่าห้องนอนพังยับเยิน มีเศษซากปูนจำนวนมาก ทำให้ 10 ชีวิตต้องย้ายออก เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ยังไม่มีที่อยู่อาศัย และชาวบ้านวอน กทม.และบริษัทรับเหมาเร่งดูแลและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ชาวบ้านที่อยู่ในตึกที่ถูกเครนถล่ม ต้องย้ายออกเพราะห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัย
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคล้ายกับเหตุการณ์คานปูนหล่นบริเวณทางด่วนถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เป็นอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่เกิดซ้ำซาก สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักการโยธา กทม.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง รวมทั้งบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างออกมาแสดงความรับผิดชอบชดเชยเยียวยา ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ และรถยนต์ที่เสียหายทุกคัน
อีกมุมร่องรอยความเสียหาย เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบ
เปิดช่องทางเรียกร้องค่าชดเชย
รวมทั้งต้องเร่งตรวจสอบและเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการทางยกระดับต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมออกมาตรการป้องกันระยะยาวในการป้องกันความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระดับใหญ่อย่างเข้มงวด
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง หรือได้รับความเสียหาย หรือได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนออนไลน์กับสภาผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/
โดยแนบหลักฐานร้องเรียนเบื้องต้น ดังนี้ 1.ภาพถ่ายหรือหลักฐานความเสียหายของรถยนต์และทรัพย์สินต่างๆ 2.ใบเสร็จค่าซ่อม 3. ใบรับรองแพทย์/หลักฐานค่ารักษาพยาบาล (กรณีบาดเจ็บ) 4.รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางที่เกิดจาการติดต่อแจ้งความ หรือไปโรงพยาบาล และ 5.สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ หรือสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่เบอร์ 02- 239 1839 กด 1 ในวันและเวลาทำการ
สภาพความเสียหายของตึกที่ถูกโครงเหล็กล้มพังถล่มลงมาทั้งแถบ
ย้อนเหตุการณ์โครงสร้้างสะพานถล่ม
ทั้งนี้อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2565 เกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานกลับรถ ถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 ที่กำลังปิดปรับปรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ขาเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
ซากของสะพานถล่มที่อยู่ระหว่างการประเมินเพื่อเตรียมขนย้ายออกจากจุดเกิดเหตุ
หากย้อนกลับไปในปี 2559 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 เกิดเหตุการณ์เครนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายกว่า 10 คน
นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ได้มาตรฐานการควบคุมการก่อสร้างโครงการระดับใหญ่ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน
ไทยพีบีเอสสำรวจสภาพบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม พบห้องนอนพังยับเยิน สมาชิกในบ้าน 10 คน ยังไม่มีที่อาศัย วอน กทม.และบริษัทรับเหมาช่วยดูแล#สะพานทรุด #สะพานถล่ม #ลาดกระบัง #ทางยกระดับ #ข่าวไทยพีบีเอส #ข่าวที่คุณวางใจ #ThaiPBSnews pic.twitter.com/wK2XKIn0k8
— Thai PBS News (@ThaiPBSNews) July 11, 2023