ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไร้ปาฏิหาริย์ ไม่มีผู้รอดชีวิต พบซากเรือ "ไททัน" ใกล้ซากเรือ "ไททานิก"

ต่างประเทศ
23 มิ.ย. 66
06:47
21,043
Logo Thai PBS
ไร้ปาฏิหาริย์ ไม่มีผู้รอดชีวิต พบซากเรือ "ไททัน" ใกล้ซากเรือ "ไททานิก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ แถลงยานสำรวจใต้น้ำของเรือ Horizon Artic พบเศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำ "ไททัน" กระจัดกระจายอยู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้กับซากเรือ "ไททานิก" ยืนยันลูกเรือ 5 คน เสียชีวิตทั้งหมด

วันนี้ (23 มิ.ย.2566) ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำไททันกลายเป็นโศกนาฏกรรม หลังมีรายงานการพบซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน หลังจากผ่านมา 4 วันเต็มที่เรือขาดการติดต่อไป ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา และคาดว่าออกซิเจนภายในเรือจะหมดลง เมื่อช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 22 มิ.ย.2566 (ตามเวลาประเทศไทย)

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการระบุว่า ตัวเลข 96 ชั่วโมง ของปริมาณออกซิเจนสำรองภายในเรือดำน้ำ Titan ไม่ใช่ตัวกำหนดกรอบเวลาของปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยใต้ทะเลลึก แต่จะค้นหาต่อไปจนกว่าจะกู้เรือขึ้นมาได้สำเร็จ แต่ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แถลงยืนยันการเสียชีวิตของทั้ง 5 คนแล้ว

เจ้าหน้าที่หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ แถลงระบุว่า เช้านี้ตามเวลาท้องถิ่นที่สหรัฐฯ ยานสำรวจใต้น้ำไร้คนขับ หรือ ROV จากเรือ Horizon Arctic พบชิ้นส่วนหางของเรือดำน้ำขนาดเล็กไททัน ห่างจากซากส่วนท้ายเรือไททานิกประมาณ 490 เมตร ที่บริเวณก้นมหาสมุทร

ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงพบชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน

ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงพบชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน

ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงพบชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน

นอกจากนี้ยานสำรวจยังพบซากชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานและสรุปได้ว่า ซากชิ้นส่วนเหล่านี้เกิดจากความเสียหายอย่างร้ายแรงของตัวเรือดำน้ำ และเมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงแจ้งต่อครอบครัวของลูกเรือทั้ง 5 คน บนเรือไททันทันที

ด้านบริษัท OceanGate ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียในครั้งนี้ รวมถึงครอบครัวของทั้ง 5 คนบนเรือ พร้อมระบุว่า นี่เป็นช่วงเวลาอันเศร้าโศกของบรรดานักสำรวจใต้สมุทร และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมภารกิจค้นหาเรือดำน้ำไททัน

พบซากเรือ "ไททัน" บ่งชี้เกิดระเบิดแบบยุบตัว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า ซากชิ้นส่วนหลัก 5 ชิ้น ที่ทำให้ระบุได้ว่า นี่เป็นชิ้นส่วนของเรือไททัน ชิ้นแรก คือ ส่วนหัวของเรือ จากนั้นจึงพบบริเวณที่มีซากชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่ และพบอุปกรณ์ที่ใช้ล็อกห้องโดยสารซึ่งต้องทนต่อแรงดันมหาศาล และนี่คือสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดหายนะขึ้นกับเรือลำนี้

ไม่นานหลังจากนั้นยานสำรวจยังพบซากชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่อีกบริเวณหนึ่งแต่แคบกว่าจุดแรกโดยจุดนี้เจอส่วนท้ายเรือ จึงรู้ได้ว่าที่พบมาทั้งหมดคือส่วนประกอบทั้งหมดของเรือที่ควรจะยึดติดเป็นชิ้นเดียวกันเพื่อให้ห้องโดยสารทนต่อแรงดันได้

และนั่นคือที่มาของข้อสรุปว่าลูกเรือทั้ง 5 คน เสียชีวิตแล้ว จากการระเบิดแบบ implosion ไม่ใช่ระเบิดออก แต่เป็นระเบิดแบบยุบตัวลงฉับพลัน ทุกอย่างน่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ด้วยแรงดันราว 4,000 ตันต่อตารางเมตร ใต้น้ำลึกขนาดนี้ แต่ในเวลานี้ยังไม่ทราบว่าการระเบิดยุบตัวของเรือเกิดขึ้นเมื่อไรหรือสาเหตุคืออะไร

เรือดำน้ำไททัน

เรือดำน้ำไททัน

สำหรับ 5 ชีวิตที่สูญเสียไปบนเรือไททัน ได้แก่ Stockton Rush ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง OceanGate , Hamish Harding มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ, Paul-Henry Nargeolet นักสำรวจชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยสำรวจซากเรือไททานิกมาก่อน, Shahzada Dawood นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถานและลูกชาย คือ Sulaiman Dawood วัยเพียง 19 ปี เท่านั้น

ขณะที่ Chris Brown เพื่อนของ Hamish Harding เปิดเผยว่า ตนตัดสินใจยกเลิกการเดินทางลงไปสำรวจซากเรือไททานิกกับเรือดำน้ำไททัน เนื่องจากเป็นกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของเรือลำนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเรือ เช่น พวงมาลัยที่ทำจากอุปกรณ์วิดีโอเกม ไฟในเรือที่หาได้ตามร้านขายของประดิดประดอยต่าง ๆ แนว DIY หรืออับเฉาเรือที่ทำจากท่อในงานอุตสาหกรรม และภายในที่เล็กคับแคบ อึดอัด เห็นแล้วไม่สบายใจจึงยกเลิกทริปที่จองไว้

นักวิทย์เรียกร้องระงับเดินทางสำรวจซากไททานิก

ส่วน Michael Guillen อดีตบรรณาธิการข่าววิทยาศาสตร์ ABC News ซึ่งเคยลงไปสำรวจซากเรือไททานิกเมื่อปี 2000 และประสบอุบัติเหตุติดอยู่ที่ใบพัดเรือเป็นเวลาหนึ่ง เรียกร้องให้ยุติการเดินทางลงไปสำรวจซากเรือนี้ทั้งหมด จนกว่าจะทราบสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ โดยเขาเปรียบเทียบกับการสำรวจอวกาศด้วยกระสวยอวกาศ เช่น สมัยที่เกิดเหตุกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ระเบิด นาซายังต้องระงับการเดินทางไประยะหนึ่ง

ขณะที่ภารกิจค้นหาและกู้ภัยซึ่งกลายเป็นภารกิจเก็บกู้ซากชิ้นส่วนเรือจะดำเนินต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จะนำซากเรือทั้งหมดขึ้นมาจากใต้ทะเลเพื่อสอบสวนและปะติดปะต่อเรื่องราว เพื่อหาคำตอบว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งนี้ขึ้น ไม่ต่างจากเวลาที่เกิดเหตุเครื่องบินตก เพียงแต่เรือดำน้ำนี้ไม่มีกล่องดำ ส่วนเรื่องเสียงที่ได้ยินก่อนหน้านี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรือไททันเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศกนาฏกรรมซ้ำรอย สามีเหลน "2 ตายายไททานิก" ติดไททัน

ภารกิจสุดหินกู้ "ไททัน" เมื่อแผนที่มหาสมุทรลึกลับกว่าแผนที่ดวงจันทร์

นับถอยหลังค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ก่อนออกซิเจนหมดเย็นนี้

วิเคราะห์ : "เรือไททัน" ปลอดภัยแค่ไหน?

ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง