ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

NASA ชวนส่งชื่อไป "ดวงจันทร์ยูโรปา" พร้อมยาน Europa Clipper ปลายปี 2024

Logo Thai PBS
NASA ชวนส่งชื่อไป "ดวงจันทร์ยูโรปา" พร้อมยาน Europa Clipper ปลายปี 2024
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
NASA เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกร่วมออกเดินทางท่องโลกอวกาศ โดยการส่งชื่อไปยังดวงจันทร์ยูโรปา ผ่านแคมเปญ “ข้อความในขวด” (Message in Bottle) พร้อมกับยาน Europa Clipper

NASA เตรียมสำรวจดาวดวงใหม่ ออกเดินทางไปในที่ไกลแสนไกลกับยาน Europa Clipper ในเดือนตุลาคม 2024 ซึ่งข่าวดีก็คือ NASA เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมเดินทางไปยังดวงจันทร์ยูโรปาด้วยการส่งชื่อไปในบทกวี ผ่านแคมเปญ “ข้อความในขวด” (Message in Bottle) ที่เว็บไซต์ europa.nasa.gov ซึ่งแคมเปญจะสิ้นสุดลงในเวลา 23.59 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2023

ดวงจันทร์ยูโรปาเป็นบริวารของดาวพฤหัสบดี โดยทีมงานและยาน Europa Clipper ต้องออกเดินทางไกลถึง 2,600 ล้านกิโลเมตร เพื่อเข้าถึงระบบของดาวพฤหัสบดี ซึ่งยาน Europa Clipper จะออกเดินทางในช่วงเดือนตุลาคม 2024 และคาดว่าจะไปถึงจุดหมายภายในปี 2030

ภารกิจในครั้งนี้ของ NASA คือ การสำรวจว่าดวงจันทร์ยูโรปาสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตใต้พื้นผิวน้ำแข็งได้หรือไม่ โดยยาน Europa Clipper จะโคจรรอบดาวพฤหัสบดี และบินผ่านดวงจันทร์ยูโรปาประมาณ 50 ครั้ง เป็นระยะทางประมาณ 800,000 กิโลเมตร เพื่อใช้ชุดเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทรใต้ผิวดิน เปลือกน้ำแข็ง รวมถึงชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์ยูโรปา

ยาน Europa Clipper เมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีขนาดใหญ่เท่ากับรถตู้โดยสาร ที่มาพร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดยาวเทียบเท่าสนามบาสเกตบอล หรือมีความยาวมากกว่า 30 เมตร ซึ่งขณะนี้การประกอบยาน Europa Clipper กำลังดำเนินการอยู่ที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ของ NASA ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยการประกอบยานนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนายานอวกาศ ที่มีส่วนประกอบทางวิศวกรรม และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่มาจากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป

ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาอย่างละเอียดนี้ เป็นการพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของเปลือกน้ำแข็งและมหาสมุทรที่อยู่เบื้องล่าง และยังเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์ประกอบของดวงจันทร์และธรณีวิทยา อีกทั้งยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจศักยภาพและการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่นอกโลกได้ด้วย

ที่มาข้อมูล: nasa, digitaltrends, nationalworld, chron, natescrest
ที่มาภาพ: nasa
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง