ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำไม "สิทธิกำหนดชะตากรรม" ไม่เท่ากับ "การเป็นเอกราช"

สังคม
20 มิ.ย. 66
16:00
816
Logo Thai PBS
ทำไม "สิทธิกำหนดชะตากรรม" ไม่เท่ากับ "การเป็นเอกราช"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสพูดคุยกับนักวิชาการด้านสันติศึกษา และอดีตนักศึกษาปริญญาโทด้านสันติศึกษา เพื่อทำความเข้าใจว่า “สิทธิกำหนดชะตากรรม” ที่ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้เรียกร้องคืออะไร และ ทำไมการแยกตัวเองเป็นเอกราชจึงไม่มีวันเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขกฎหมายไทยฉบับปัจจุบัน

การเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ

7 มิ.ย. 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเปิดตัวในนาม "ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)" ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี

ในงานมีวงเสวนาประเด็น "สิทธิการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" โดยนักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมือง และกิจกรรมจำลองการลงประชามติว่า "คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย"  โดยกลุ่มนักศึกษาเห็นว่า การทำประชามติจำลองเป็นการแสดงออกถึงสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Rights to self-determination (RSD) ผ่านประชามติซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน

 

หลังภาพกิจกรรมจำลองการลงประชามติถูกเผยแพร่ออกไป  มีปฏิกิริยาจากฝ่ายความมั่นคงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าว โดยว่า หมิ่นเหม่และละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  พร้อมกับพยายามหาหลักฐานพยานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมประชามติจำลอง

มุมมองสันติศึกษา "กิจกรรมจำลองประชามติฯ ไม่ผิด"

เอกพันธุ์  ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติศึกษา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า กิจกรรมจำลองการลงประชามติของขบวนนักศึกษาแห่งชาติเป็นสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนตามกรอบของรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ถึงแม้จะมีคำว่า “เอกราช” แต่เป็นคำที่ใช้ในการเรียนการสอนปกติ และประชามติที่เกิดขึ้นก็คือ “การจำลอง” ซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย ดังนั้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติศึกษา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติศึกษา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสันติศึกษา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การลงประชามติเพื่อแยกดินแดนเกิดขึ้นไม่ได้

สำหรับผู้ที่กังวลว่าการแบ่งแยกดินแดนจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เอกพันธุ์ บอกว่า รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับรวมถึงฉบับปัจจุบัน ระบุว่า ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งอยู่ในมาตรา 1

ถ้าหากจะแก้ไขมาตรานี้ ต้องทำประชามติทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ ยังระบุว่าการทำประชามติจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรกังวลในสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้น

แนวคิดการกำหนดใจตนเอง หรือ การกำหนดชะตากรรมตนเอง

ปรวรรณ วงษ์รวยดี อดีตนักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย บอกว่า สิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Right to self-determination (RSD) เป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม โดยพบว่าชนชาติต่างๆ ต้องการกำหนดแนวทางของชนชาติตนเอง

จากนั้นปรากฏนิยามในกฎบัตรสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 แต่ไม่ได้กำหนดนิยามแบบชัดเจน ระบุเพียงว่า เป็นหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะสามารถตัดสินใจทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ด้วยตัวพวกเขาเอง

ปรวรรณ วงษ์รวยดี อดีตนักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ปรวรรณ วงษ์รวยดี อดีตนักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ปรวรรณ วงษ์รวยดี อดีตนักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

 

ด้านนักวิชาการด้านสันติศึกษา บอกว่า คำถามที่นักศึกษาใช้ถามในบัตรลงประชามติจำลอง เป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของแนวคิดการกำหนดใจตนเอง (Self-Determinism) อันเป็นเสรีภาพที่มีอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่ การใช้สิทธิเลือกตั้ง การมีหลักนิติธรรมเพื่อหากฎหมายมาใช้ในการเมืองการปกครอง และกระบวนการเลือกและคัดกรองกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับประชาชน ซึ่งขั้นนี้คือการกำหนดใจตนเองในระดับการเมืองการปกครอง

การกำหนดใจตนเองที่นำไปสู่การปกครองแบบ “เอกราช” คือออกจากการปกครองของรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่สามารถทำได้เลยทันที เพราะว่าในพื้นที่ของนานาชาติต้องยอมรับเอกราชและอธิปไตยของรัฐก่อน ซึ่งเมื่อมาดูอธิปไตยของไทยพบว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกได้ โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 

นักวิชาการสันติศึกษาบอกว่า ฝ่ายความมั่นคงของไทยกังวลเกินกว่าเหตุ เพราะเมื่อพิจารณากิจกรรมของนักศึกษาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 66 พบว่าไม่มีกิจกรรมใดที่นำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง

ในมุมมองของเอกพันธุ์  เขามองว่า หากเราเห็นการเกิดปฏิกิริยารุนแรงต่อเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ มันอาจเป็นคำถามว่า รัฐไทยอ่อนแอหรือไม่ เพราะหากรัฐมีความเข้มแข็ง ประชาชนในรัฐควรจะพูดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ และมีกระบวนการทำความเข้าใจ พูดคุยตกลงกัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในรัฐที่อ่อนแอมักจะใช้กำลัง ขณะที่ รัฐที่มีความแข็งแรง จะใช้เหตุผลมากกว่า อันนี้คือหลักการทั่วไป

นักวิชาการสันติวิธียกตัวอย่างเหตุการณ์ลงประชามติของแคว้นคาตาลูญญาที่ต้องการแยกตัวเองออกจากประเทศสเปน เนื่องจากความแตกต่างเรื่องอัตลักษณ์  จะเห็นว่า สเปนพยายามพูดคุยและเสนอทางเลือกอื่นๆ  เช่น ให้อิสระและเสรีภาพมากขึ้นแทนการแยกตัวออกไป หรือเสนอให้เป็นเขตปกครองตนเอง

กรณีของแคว้นควิเบก ประเทศแคนาดา ก็มีความพยายามแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ เพราะในแคว้นนี้มีประชาชนอยู่ 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก กลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ทั้งสองภาษาเป็นหลัก ต่อมาพบว่า ผู้ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสต้องการแยกตัวออกมา เพราะรู้สึกว่ามีอัตลักษณ์บางอย่างที่สำคัญกับพวกเขา รวมถึงการเมืองการปกครอง

เมื่อย้อนกลับไปพบว่า การทำประชามติครั้งแรกเพื่อแยกแคว้นควิเบกออกจากแคนาดาไม่เกิดขึ้น ต่อมาเกิดการทำประชามติในแคว้นควิเบกถึงสองครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1980 และ ปี ค.ศ. 1995 โดยผลประชามติในปี ค.ศ. 1995 ออกมาว่ากลุ่มที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสต้องการแยกตัวออกจากแคนาดา ขณะที่อีกสองกลุ่มต้องการแยกตัวออกไปอยู่กับแคนาดา

ผลประชามติดังกล่าวนำไปสู่การตระหนักรู้ของสังคม และนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน โดยประเทศแคนาดาให้อิสรภาพการบริหารจัดการกับแคว้นควิเบกมากขึ้น ทำให้ประชาชนที่มีความต้องการแตกต่างกันยังสามารถอยู่ร่วมกันได้

นักวิชาการสันติศึกษาจึงมองว่า สำหรับประเทศไทย การทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิและเสรีภาพ น่าจะเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายควรยึดถือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาตีตนไปก่อนไข้ หากพบกิจกรรมหรือการแสดงออกที่แสดงเจตจำนงว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา และรัฐไม่ควรผลักไสผู้แสดงความเห็นต่างให้เป็นฝ่ายตรงข้าม

เอกพันธุ์ บอกว่า ประเทศไทยผ่านประสบการณ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธพยายามแบ่งแยกดินแดนมาระยะหนึ่งแล้ว วิธีเดียวที่จะทำให้กองกำลังติดอาวุธหยุดใช้อาวุธได้ ไม่ใช่การเอากำลังทหารเข้าไปปราบปราม แต่ต้องเพิ่มพื้นที่ทางการเมือง เพิ่มพื้นที่การแลกเปลี่ยน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความคิดการยกอัตลักษณ์ เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ถ้าเพิ่มพื้นที่การเมืองเช่นนี้ได้ การใช้อาวุธก็จะลดลงไปโดยปริยายในท้ายที่สุด

นักวิชาการสันติศึกษา ยังแนะนำว่า ประชาธิปไตยคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการหาทางออกให้กับทุกความเห็นในประเทศไทย เพราะประชาธิปไตยเท่านั้นที่เปิดพื้นที่ให้ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยมได้แสดงออก และเมื่อทำควบคู่กับการกระจายอำนาจซึ่งเอื้อให้แต่ละฝ่ายสามารถมีเสรีภาพกำหนดใจตนเองด้วยแล้ว ก็จะนำไปสู่การยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และบรรเทาบรรยากาศการเผชิญหน้าระหว่างกัน


มโนทัศน์ "สิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในจังหวัดชายแดนใต้"

 

จากงานศึกษาของปรวรรณ พบว่า การเคลื่อนไหวเรื่องแนวคิดสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง ปรากฏในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2552 แต่ขาดความต่อเนื่องไประยะหนึ่ง เพราะฝ่ายความมั่นคงเข้มงวด ก่อนกลับมาปรากฎในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

จากการเก็บข้อมูลจากแนวร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคงในช่วงปี 2560-2561 พบว่ามโนทัศน์ (concept) เรื่องสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นมีความหลากหลาย และเป้าหมายการกำหนดชะตากรรมของแต่ละเฉดความเห็นก็แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่สนับสนุน และ ไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ 

ข้อมูลจาก ปรวรรณ วงษ์รวยดี ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ข้อมูลจาก ปรวรรณ วงษ์รวยดี ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ข้อมูลจาก ปรวรรณ วงษ์รวยดี ผู้ทำวิทยานิพนธ์ในปี 2561 เรื่อง มโนทัศน์เรื่องสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองในพื้นที่ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

 

งานศึกษาระบุว่า กลุ่มที่เห็นด้วยมีหลายเฉด ตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการใช้ชีวิตตามปกติ สามารถทำมาหากิน และ มีวิถีชีวิตตามความเชื่อของบรรพบุรุษ ความเชื่อทางศาสนา การแต่งกายและการใช้ภาษา ควบคู่กัน

เฉดที่เข้มข้นขึ้นมา คือ ต้องการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองในรูปแบบกระจายอำนาจ แต่ยังไม่มีการตกผลึกชัดเจนว่าเป็นรูปแบบใด

ส่วนเฉดที่เข้มข้นที่สุด คือ เอกราชปาตานี ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยกังวลมากที่สุด

กลุ่มที่ต่อต้านคือฝ่ายความมั่นคง อย่างที่บอกว่า RSD มีหลายเฉด ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล สังคม ชุมชน ไปจนถึงโครงสร้างทางการเมือง แต่ว่าระดับโครงสร้างทางการเมืองนั้น ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นแบบไหน และมีอีกกลุ่มที่สนับสนุน RSD โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดน ชูเรื่องเอกราช ฝ่ายความมั่นคงจึงกังวลว่า หนึ่งในแนวคิดเรื่อง RSD มีเรื่องเอกราชอยู่ด้วย เขาเลยแก้ปัญหาโดยการปิดกั้น ไม่ต้องพูดถึงเลย เพื่อไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงว่าเฉดของ RSD จะไปในเฉดที่เข้มข้นที่สุด นั่นคือ การแบ่งแยกดินแดน

“สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง” ไม่เท่ากับ “เอกราช”

ปรวรรณ บอกว่า สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง เป็นปฏิบัติการทางสังคมและมีระดับจุดมุ่งหมายที่หลากหลายมาก ดังนั้น ความเข้าใจว่าสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองอาจนำไปสู่การเป็นเอกราชจึงเป็นความคิดที่คับแคบ และทำให้ไม่สามารถถกเถียงหรือพูดคุยถึงสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเองในเฉดอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะยิ่งทำให้สังคมไม่มีพื้นที่ถกเถียงเพื่อตกผลึกร่วมกันว่าสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเองแบบใดที่พวกเขาต้องการ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ถกเถียงยังเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเห็นข้อจำกัด เห็นความเป็นไปได้ และความเป็นไปไม่ได้ เพื่อหาทางเลือกร่วมกัน ซึ่งเป็นทางออกที่สันติที่สุด และไม่มีใครต้องเสียชีวิตจากการกระบวนการการพูดคุยนี้

ปรวรรณ คิดว่า ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขั้นที่ว่า RSD จะนำไปสู่อะไรบ้าง แต่ยังอยู่ในขั้นมีสิทธิจะพูดเรื่อง RSD ได้ไหม ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเป็นเสรีภาพการแสดงออก

 

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง