ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์"

สิ่งแวดล้อม
13 มิ.ย. 66
12:22
3,189
Logo Thai PBS
นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก "หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก Dolichos kasetsartianus Meeboonya, Ngerns. & Balslev ตั้งชื่อว่า หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์ “Kasetsart pink heart” ตอบแทนพระคุณมหาวิทยาลัยในโอกาสครบรอบ 80 ปี

ผู้วิจัย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้รับทุนโครงการยกระดับและพัฒนางานวิจัยขั้นสูงร่วมกับอาจารย์ต่างชาติแบบทางไกลออนไลน์ (Collaborating Professor) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการวิจัยรูปแบบใหม่ของการจัดการศึกษาในการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขั้นสูงของกำลังคนทางด้านการเกษตรและอาหารสำหรับอนาคต” ภายใต้แผนงานโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University Program) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Professor Dr Henrik Balslev, Collaborating Professor แห่งมหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก (Aarhus University, Denmark) ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก คำระบุชนิด “kasetsartianus” ชื่อไทย “หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” และชื่อภาษาอังกฤษ “Kasetsart pink heart” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ทำงานของผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author) ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 อีกทั้งเป็นสถานที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอกของผู้ประพันธ์อันดับแรก (first author) ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นอกจากนี้ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ยังให้ทุนวิจัย KU Reinventing ซึ่งทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี

ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” อยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae หรือ Leguminosae) วงศ์ย่อยประดู่ (Papilionoideae) เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นพันเลื้อย หูใบรูปไข่หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ติดทน ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลายรูปค่อนข้างกลม รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปรีกว้าง หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง 3.5–11 ซม. ยาว 4–14 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม และมีติ่งแหลมอ่อน โคนมน มนกลม หรือตัด ขอบเรียบ ใบย่อยคู่ข้างรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ไม่สมมาตร ขนาดเล็กกว่าใบย่อยใบปลายเล็กน้อย ปลายเรียวแหลมหรือแหลม และมีติ่งแหลมอ่อน โคนตัด มนกลม หรือมน ขอบเรียบ หูใบย่อยรูปแถบ ปลายแหลม

ช่อดอกคล้ายช่อกระจะหรือคล้ายช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกออกเป็นกระจุก มี 6–20 กระจุก เรียงตามแกนกลางช่อดอก แต่ละกระจุกมี 2 ดอก ใบประดับย่อยติดที่ปลายก้านดอก มี 2 ใบ แนบกับหลอดกลีบเลี้ยง ติดทน รูปไข่หรือรูปไข่กว้าง พบน้อยที่เป็นรูปรี ยาว 2–3 มม. สั้นกว่าหลอดกลีบเลี้ยง ปลายแหลมหรือมน ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูอมม่วง เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่อใกล้ร่วงหรือแห้ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบน 2 แฉก เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกตื้น แฉกล่าง 3 แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือมน

กลีบดอกมีก้านกลีบ กลีบกลาง (standard petal) รูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าตื้น ใกล้กลางกลีบด้านในมีรยางค์ 2 รยางค์ กลีบคู่ข้าง (wing petal) รูปไข่กลับ ปลายมนกลม เป็นคลื่นเล็กน้อย ใกล้โคนกลีบมีรยางค์ 1 รยางค์ กลีบคู่ล่าง (keel petal) รูปคล้ายเคียว ขอบกลีบช่วงล่างเชื่อมติดกันตามแนวยาว ปลายมน เกสรเพศผู้ 10 เกสร ก้านชูอับเรณูสีขาว เชื่อมติดกันเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมี 9 เกสร โคนเชื่อมติดกันโอบเกสรเพศเมีย ปลายแยกเป็นก้านชูอับเรณูสั้น เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก 1 เกสร แยกเป็นอิสระ สั้นกว่าเกสรอื่นเล็กน้อย อับเรณูรูปทรงรี สีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ สีเขียว ก้านยอดเกสรเพศเมียแบนและหนา ยอดเกสรเพศเมียสีเขียว ปลายแยกเป็น 2 แฉก มีขนยาว

ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก ค่อนข้างแบน รูปแถบ กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 6–9 ซม. ผลอ่อน
สีเขียว เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง ผลแก่สีเขียว เกลี้ยง เมื่อแห้งสีน้ำตาลอ่อน ปลายผลมีจะงอยสั้น โคนคอดคล้ายก้านผล เมล็ดรูปทรงรี กว้าง 3–4 มม. ยาว 6–7 มม. เมื่อแห้งสีน้ำตาล สีน้ำตาลอมดำ หรือสีน้ำตาลอ่อนและมีจุดประสีน้ำตาลอมดำ มี 6–10 เมล็ด

“หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายลักษณะคล้ายกับถั่วเพรียวใหญ่ (Dolichos junghuhnianus Benth.) แต่จากการศึกษาและเทียบเคียงกับตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ (type specimen) อย่างละเอียดแล้วพบว่า “หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” มีลักษณะเด่นแตกต่างจากถั่วเพรียวใหญ่

ดังนี้ ลำต้นและส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (vegetative part) อื่น ๆ เกลี้ยง ค่อนข้างเกลี้ยง หรือมีขนสั้นประปราย ใบประดับย่อยรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง พบน้อยที่เป็นรูปรี ยาว 2–3 มม. สั้นกว่าหลอดกลีบเลี้ยง ปลายแหลมหรือมน ด้านล่างมีขนสั้นประปราย แฉกกลีบเลี้ยงล่างสุดปลายแหลม ไม่เป็นติ่งโค้งขึ้น รังไข่ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 2 แฉก มีขนยาว ผลอ่อนเกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง และเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย (endemic to Thailand)

ส่วนถั่วเพรียวใหญ่มีลักษณะดังนี้ ลำต้นและส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอื่น ๆ มีขนยาวหนาแน่น ใบประดับย่อยรูปใบหอกหรือรูปไข่ ยาว 5–8 มม. ยาวใกล้เคียงหรือยาวกว่าหลอดกลีบเลี้ยง ปลายแหลมหรือเรียวแหลม ด้านล่างมีขนยาวหนาแน่น แฉกกลีบเลี้ยงล่างสุดปลายเรียวแหลมและเป็นติ่งโค้งขึ้นด้านบนเห็นชัด รังไข่มีขนยาวหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มีเขตการกระจายพันธุ์ที่เมียนมา จีน (ยูนนาน) ไทย และอินโดนีเซีย (เกาะชวา)

“หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” พบบริเวณใกล้ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง พื้นที่เปิดโล่ง และพื้นที่ถูกรบกวน ริมถนน หรือใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 50–1100 ม. เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง) ภาคตะวันออก (จ.นครราชสีมา) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (จ.กาญจนบุรี) และภาคกลาง (จ.สระบุรี) ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม

คำระบุชนิด “kasetsartianus” ชื่อไทย “หัวใจชมพูเกษตรศาสตร์” และชื่อภาษาอังกฤษ “Kasetsart pink heart” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ทำงานของผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author) ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 อีกทั้งเป็นสถานที่เรียนปริญญาโท ปริญญาเอก
และนักวิจัยหลังปริญญาเอกของผู้ประพันธ์อันดับแรก (first author) ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา

เอกสารอ้างอิง
Meeboonya, R., Ngernsaengsaruay, C. & Balslev, H. 2023. Dolichos kasetsartianus (Fabaceae: Papilionoideae), a new species from Thailand, and clarification of the identity compared with D. junghuhnianus and Wajira grahamiana. Kew Bull. (2023).
https://doi.org/10.1007/s12225-023-10108-w

ข่าวที่เกี่ยวข้อง