วิวัฒนาการของโลกออนไลน์ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่นำวิธีการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์มาสอนในช่วงโควิด-19
เมื่อเด็กกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียน หลายคนจึงไม่ชอบรูปแบบการศึกษาแบบเดิม และเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษากลางคัน เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้เรียนที่ไหนก็ได้
ขณะที่กระแสการไม่เรียน ไม่ทำงาน กำลังเป็นเทรนของคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 15 – 23 ปี โดยพบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มนี้ สูงขึ้น 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การไม่ชอบระบบการศึกษา และเทรนการไม่เรียน ไม่ทำงาน เป็นปัญหาใหม่ ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
จากเดิมที่มีปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติดและปัญหาท้องไม่พร้อมอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปี 2565 สูงถึงกว่า 100,000 คน จากเดิมที่เคยพบว่า 90,000 คน
สิ่งที่เกิดใหม่ในยุคปัจจุบัน คือ เด็กไม่ชอบระบบการเรียน ทำไมต้องเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ ทำไมต้องเรียนในห้องสี่เหลี่ยม ทำไมต้องเรียนรูปแบบเดิม เอาครูมาสอนผม ผมไม่เชื่อมั่น ครูจากกูเกิลเก่งกว่า อะไรทำนองนี้ คือ เด็กเปลี่ยนไป
จ้างข้าราชการเกษียณอายุ เป็นอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ สอนเด็กในชุมชน
ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาพยายามแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยโครงการ "พาน้องกลับมาเรียน" แต่เมื่อเด็กกลับมาเรียนได้ไม่นาน ก็ออกจากระบบการศึกษาเหมือนเดิม
ปัจจัย คือ ความยากจน ทำให้ปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าปัญหาการศึกษา เด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ เลือกที่จะออกจากระบบการศึกษา มาทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยงานออนไลน์ หรือ การเป็นยูทูปเบอร์ เป็นสายอาชีพ ที่เด็กเหล่านี้ให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะรายได้สูง
การสร้างครูในชุมชน จึงเป็นอีกแนวทางที่คาดว่า จะทำให้การศึกษาไปถึงเด็ก จึงเกิดโครงการจ้างข้าราชการเกษียณอายุ สอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ในชุมชน ก่อนที่จะดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา กลับคืนสู่ระบบการศึกษา
ปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
การป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเพิ่มรูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายมากกว่าเดิม และเหมาะสมกับความต้องการของเด็กละคน พร้อมสนับสนุนวิธีการเรียนรูปแบบ Home School ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่มีการเรียนรูปแบบนี้ กว่า 1,600 คน
สิ่งที่เราต้องทำ คือ ปรับวิธีสอน ให้เด็กไปศึกษาด้วยตัวเอง เอาประสบการณ์มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิต