ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ : นัยความชื่นมื่นของ 8 พรรคที่ “ประชาชาติ”

การเมือง
31 พ.ค. 66
15:22
303
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : นัยความชื่นมื่นของ 8 พรรคที่ “ประชาชาติ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาพแห่งความชื่นมื่น กุมมือ โอบไหล่ ทำมือสัญลักษณ์รูปหัวใจร่วมกันของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันหารือร่วมกัน 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหนที่ 3 ที่พรรคประชาชาติ

ถือเป็นการสื่อสารไปถึงกองเชียร์และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 25 ล้านเสียงว่า ยังเดินหน้าต่อเรื่องตั้งรัฐบาลแน่ ๆ แม้สถานการณ์ยังดูอึมครึม จะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด่าน ขณะที่ขั้วอนุรักษ์นิยมที่แพ้เลือกตั้ง ก็ยังไม่ยกธงขาวยอมแพ้

เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนเดินหน้าต่อ ไม่ย่อท้อ ไม่แตกสามัคคี ไม่มีเรื่องซ่อนมีดในรอยยิ้มเตรียมแทงข้างหลัง แต่ในวงหารือ 8 พรรคร่วมจบลงเพียงการตั้งคณะกรรมการชุดเปลี่ยนผ่านรัฐบาล มีนายพิธาเป็นประธาน

โดยมีตัวแทนจากพรรคอื่น ๆ ในระดับมือรองเป็นกรรมการ ภารกิจสำคัญ คือกลั่นกรองนโยบายแต่ละพรรคเพื่อทำเป็นนโยบายร่วม สำหรับแถลงต่อรัฐสภาก วางไทม์ไลน์ประชุมนัดแรก 6 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ยังมีตั้งกรรมการทำงาน 7 ชุด เพื่อลงในรายละเอียดหรือแอคชั่นแพลน 7 เรื่อง 7 ข้อ ในเอ็มโอยูที่เคยลงนามร่วมกันไว้ 23 ข้อ แต่เลือกมาก่อน 7 ข้อ มีทั้งเฉพาะหน้าเร่งด่วน เช่น เรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน เรื่องภัยแล้ง เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ค่าครองชีพ และเรื่องระยะยาว อย่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่มีการถกกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ และไม่มีเรื่องจัดสรรแบ่งโควตากระทรวง และโควตารัฐมนตรี หรือการแบ่งเค้ก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่คาดหวังหรืออยากจะเห็น

ด้านหนึ่งคงจะตระหนักว่า หากคุยกันเรื่องการแบ่งเค้ก ตั้งแต่ประธานสภาผู้แทนฯ และโควตารัฐมนตรี อาจนำไปสู่ข้อขัดแย้ง และความเห็นต่างกันได้ จะกลายเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ จะทำให้บรรยากาศการจับมือตั้งรัฐบาลที่ดูราบรื่น ต้องสะดุดลง

จึงเป็นยุทธวิธียื้อเวลาออกไปก่อน เล่นกับสื่อ เล่นกับโซเชียล เพิ่มพื้นที่ข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าเรื่องตั้งรัฐบาล สื่อสารความตั้งใจเรื่องที่อยากจะทำ เช่น กรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เปิดประเด็นเดินหน้าลุยส่วยทางหลวง จนร้อนทั้งโซเชียล

ด้วยมั่นใจว่า มีพลังประชาชนคอยหนุนหลังเต็มที่ และพลังของผู้คนเหล่านี้ จะสามารถเพิ่มแรงกดดันให้กับส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ แบบซึมบ่อทราย และยังจะเป็นแรงกดดันไปถึงเรื่องการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ซึ่งช่วงนี้ กำลังถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น

ไม่เพียงพูดถึงเฉพาะคำตัดสินของศาล กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในอดีต ที่เจอคำสั่งต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.เพราะคุณลักษณะต้องสมัคร ส.ส.มาตั้งแต่ต้น

กับกรณีนายชาญชัย อิศรเสนารักษ์ ที่ศาลสั่ง กกต.คืนสิทธิลงสมัคร ส.ส.นครนายก เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกรณี รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.คนอื่น ๆ ที่ไม่โดน กกต.ตัดสิทธิเหมือนนายชาญชัย และยังมีพ่วงไปถึงคดีในอดีต เรื่องถือหุ้นสัมปทานรัฐพ่วงเข้ามาเพิ่มดีกรี ให้มีความสับสนชวนหวั่นวิตกมากขึ้น

2 ด่านนี้จึงจะเป็นด่านหินของจริง เพราะในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แทบจะไม่มี ส.ว.ที่ออกมาแสดงจุดยืนพร้อมโหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ เพิ่มเติมจากเดิมเลย อีกทั้งต้องลุ้นผลการรับรองส.ส.ของ กกต. 95 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้งด้วยว่า 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จะอยู่ในกลุ่ม 313 คนของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่

ขณะที่หุ้นไอทีวี มีการมองข้ามไปถึงหากนายพิธาโดน จะต้องยุติการทำหน้าที่ ส.ส.ทันทีหรือไม่ และจะผลไปถึง ส.ส.ทั้งหมดของพรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ เพราะคนที่ลงนามรับรองเป็นสมาชิกพรรค ประกอบการสมัคร ส.ส. คือนายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรค

จึงอาจเป็นที่มา ทำให้นายพิธาในฐานะผู้นำหลัก และเป็นคนคุมเกมเรื่องตั้งรัฐบาล ต้องเลือกวิธีการต่อสู้ด้วยยุทธวิธียื้อเวลาออกไปก่อน เพราะยังเหลือเวลาอีกนานกว่าจะตั้งรัฐบาลได้จริง ๆ ระหว่างนี้ นอกจากเปิดปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเชิงรุกด้วยแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องถนัดของพรรคก้าวไกลแล้ว ก็อาศัยมวลชนเป็นหลังพิง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย คงรู้ดีว่า ถูกผู้คนจับตาอย่างไม่ไว้วางใจ นพ.ชลน่านก็ต้องเดินหน้าต่อในจุดยืนให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกลและนายพิธาจนถึงที่สุด เพราะถึงอย่างไร หากพรรคก้าวไกลทำไม่สำเร็จ ก็ยังมีความชอบธรรมในฐานะพรรคอันดับ 2 รวบรวม ส.ส.ตั้งรัฐบาลได้อยู่ดี

ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ เป็นเรื่องที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้ เพราะเป็นเรื่องการตกลงภายในพรรคร่วมรัฐบาลล้วน ๆ ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยภายนอกเลย อาจมีเรื่องรัฐมนตรีเกรดเอเพิ่มเติมในเงื่อนไขเจรจาก็สามารถยุติได้

ยิ่งฟังจากคำพูดของ นพ.ชลน่านที่ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่เรื่องเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับมีท่าทีอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ยุทธศาสตร์ยื้อเวลาแบบนี้ ก็มีทั้งบวกและลบ ด้านบวกคือได้ใจกองเชียร์ที่เริ่มเห็นอะไร ๆ ใหม่ ที่สะท้อนพัฒนาการทางการเมือง มีลงนามเอ็มโอยู มีตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และคณะทำงานเรื่องสำคัญทั้งเร่งด่วนและระยาว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ย่อมโดนใจผู้คนและกองเชียร์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่เรื่องประธานสภาผู้แทน และการแบ่งเค้ก ยังยื้อเยื้อต่อไป เท่ากับเรื่องความเห็น เสียงวิพากษ์ ทั้งคนในคนนอก และนักวิชาการ จะยังไม่ยุติลงเช่นกัน

ถือเป็นเกมวัดใจที่พรรคก้าวไกลและนายพิธา น่าจะเลือกแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : "ชวน" มอง ไม่แปลก "พท." ต่อรองตำแหน่ง ปธ.สภาฯ เหตุได้ ส.ส.ใกล้เคียง "กก."

เลือกตั้ง2566 : "วิษณุ" เผย 8 พรรคตั้งคณะทำงานฯ-ขอข้อมูล ขรก.ได้ แต่อย่าทำให้ลำบากใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง