นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันที่ 31 พ.ค.ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" โดยในปี 2566 ประเทศไทยกำหนดประเด็นรณรงค์ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการเผยแพร่ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ หรือบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน
แต่ความเป็นจริง ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน มีสารนิโคตินเหมือนกัน เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้า
สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ซึ่งการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้
จากการทดลองในหนูที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอด พบว่า เยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดเกิดการอักเสบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับปอดของหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรกที่พบในโรคถุงลมโป่งพอง
อ่านข่าว : "บุหรี่ไฟฟ้า" มีสารพิษ เสพติด อันตราย
ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า บุหรี่ทุกชนิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบรวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
สบยช.ได้จัดโครงการสัปดาห์รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 เพื่อร่วมรณรงค์ ส่งเสริม กระตุ้นให้ผู้เข้ารับบริการ ประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ และมุ่งหวังให้เกิดการลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่ โดยทีมสหวิชาชีพ คัดกรองและให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ ซึ่งจะจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้ บริเวณชั้น 1 ตึกอำนวยการ สบยช.
ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี
รวมถึงโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บุหรี่ไฟฟ้า? สินค้าต้องห้ามครอบครองผิดกฎหมาย
พิษร้าย "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำลายสมองเด็ก วิจัยพบสารเคมี 2 พันชนิด