ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขคำตอบ! ไทยส่งช้างให้ศรีลังกาทำไม?

สิ่งแวดล้อม
27 พ.ค. 66
16:55
9,494
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! ไทยส่งช้างให้ศรีลังกาทำไม?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"งาอุ้มบาตร" เป็นเอกลักษณ์ของช้างไทยที่เด่นชัด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ "ศรีลังกา" ต้องการ เพื่อนำช้างงาอุ้มบาตรไปอัญเชิญ "พระเขี้ยวแก้ว" ในงานพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุ และทำให้ช้างไทยอย่างน้อย 3 เชือกต้องถูกส่งไปศรีลังกา

อย่างที่รู้กันว่าประเทศเอเชียกลางเป็นศูนย์รวมของศาสนาพุทธ แต่ละประเทศก็จะมีสัตว์คู่ศาสนาที่แตกต่างกันไป ในอินเดียจะพบ วัว ลิง แต่ที่ศรีลังกาจะพบ "ช้าง" ชาวศรีลังกาเชื่อว่าสิ่งที่แสดงความเป็นพุทธคือช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างที่มีหรือไม่มีชีวิตก็ตาม 

นักธุรกิจชาวศรีลังกาบอกกับ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา ดร.พลเดช วรฉัตร ว่าการที่วัดพุทธในศรีลังกาเลี้ยงช้างไว้ทุกวัด เสมือนการสร้างศักดิ์ศรีและความมีเกียรติ เพราะช้างเป็นสัญลักษณ์ของราชาในสมัยก่อน

ช้างศรีลังกาเป็นพันธ์ุ E.m.maximus มีรูปร่างขนาดใหญ่ ตัวสีดำ ขนาดใบหูใหญ่ และมีสีกระจายมากบริเวณใบหู ใบหน้า งวง และ ลำตัว มักจะเป็นช้างสีดอหรือไม่มีงา เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น

สำหรับช้างไทยเป็นพันธ์ุ E.m.indicus เป็นช้างที่เพศผู้จะมีงา และงายาวถึงยาวมาก

อ่าน : รู้จัก "พลายศักดิ์สุรินทร์" 1 ใน 3 ทูตช้างไทยที่มอบให้ศรีลังกา

ดร.พลเดช อธิบายว่า นี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมศรีลังกาจึงมีความต้องการที่จะได้ช้างที่มีงายาว สวยงามเพื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมในเทศกาลทางศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นความสง่างามสม เกียรติแก่แผ่นดินและสถาบันกษัตริย์ในสมัยโบราณ

แต่ศรีลังกาไม่ได้ขอช้างจากไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น ยังมีขอจากประเทศ บังคลาเทศ แอฟริกา อินเดีย อีกด้วย

อดีตทูตโพสต์เศร้า สงสารช้างไทยในศรีลังกา

นอกจากนี้ ดร.พลเดช วรฉัตร ยังบันทึกเรื่องราวขณะที่เดินทางไปศรีลังกาเมื่อปี 2555 ลงในเว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมของสถานทูตพาไปดูช้างพระราชทานที่ชื่อ "ราชา" ที่วัด Kande Vihara เป็นวัดที่ใหญ่เป็นจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ในวันที่ 4 มี.ค.2555 จนได้พบ "ราชา" หรือ "พลายศักดิ์สุรินทร์" 

ผมเห็นช้าง 1 เชือก สวยงามด้วยงาขาวสองข้างกำลังกินซางมะพร้าวอย่างโดดเดี่ยว นี่หรือคือช้างพระราชทานที่ชื่อ "ราชา" ไม่มีที่อยู่ที่เหมาะสมเลย มีแต่ต้นไม้รายรอบ ซางมะพร้าวที่ทับถมกันจนเป็นกองสูงเนิน ... คงจะต้องตามล่าหาช้างพระราชทานอีก 1 เชือกให้พบ ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ว่าเท่าที่พบ "ราชา" แล้ว ก็รู้สึกสงสารแล้ว ไม่ทราบว่าช้างอีกเชือกหนึ่งจะเป็นอย่างไร

และมีข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ 5 ม.ค.2544 ระบุถึงเหตุผลในการส่งช้างไทย 2 เชือกไปให้ศรีลังกา 

เมื่อปลายปี 2543 นางจันดริกา กุมาราตุงกะ (Chandrika Kumaratunga) ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานลูกช้างเพศผู้ 2 เชือก เพื่อนำไปฝึกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุประจำปีของประเทศศรีลังกา

ทั้งนี้เพราะช้างทรงที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุในปัจจุบันมีอายุมากแล้ว จึงต้องฝึกช้างใหม่เพื่อใช้ทดแทนในภายภาคหน้า ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของเรื่องเพื่อเป็นการ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง

นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาช้างเพศผู้ 2 เชือกที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามคชลักษณ์ ช้างพลาย 2 เชือก ชื่อ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ และช้างพลายศรีณรงค์ ในนามของประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประเทศ 

อ่าน : ทวงคืน "พลายศักดิ์สุรินทร์" จากศรีลังกากลับไทย

งาอุ้มบาตร

ตามความเชื่อของชาวศรีลังกา เชื่อว่าช้างที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเขี้ยวแก้ว ต้องเป็นช้างที่มีลักษณะ "งาอุ้มบาตร" งาต้องมีขนาดยาวและโค้งเหมือนแขนพระที่อุ้มบาตร ซึ่งช้างของไทยที่ส่งไปยังศรีลังกานั้นตรงตามลักษณะที่ศรีลังกาต้องการ 

ช้างงาอุ้มบาตร FB : ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

ช้างงาอุ้มบาตร FB : ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

ช้างงาอุ้มบาตร FB : ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง

แต่เมื่อศรีลังกาได้ช้างไป ก็ไม่ได้พยายามขยายพันธุ์ช้าง แต่กลับนำช้างที่ขอไปล่ามโซ่อยู่ในโรงเรือน ไม่ให้มีการผสมพันธุ์กับช้างอื่นตามธรรมชาติ 

อ่าน : "กัญจนา" เผยเบื้องหลังช่วย "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย

เปิดชื่อ 3 ช้างไทยถูกส่งไปศรีลังกา

ช้างไทยเชือกแรกที่ถูกส่งไปให้ศรีลังกา ชื่อ "พลายประตูผา" เมื่อปี 2523 ในเอกสารของศรีลังการะบุว่า ขอเพื่อนำไปเป็นช้างแห่พระเขี้ยวแก้ว แต่เมื่อไปถึงกลับเป็นช้างอยู่ท้ายขบวน ปัจจุบันยังมีชีวิตและถูกเลี้ยงไว้ในวัดของศรีลังกา ความเป็นอยู่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์

ส่วนอีกเชือกชื่อ "พลายศรีณรงค์" ถูกส่งไปศรีลังกาพร้อมกับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" เมื่อปี 2544 เพื่อใช้งานในขบวนแห่เช่นกัน แต่ก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการขอ แต่สวัสดิภาพสัตว์การเลี้ยงดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์

พลายศักดิ์สุรินทร์ขณะอยู่ที่ศรีลังกา FB : Voice For Elephants Sri Lanka

พลายศักดิ์สุรินทร์ขณะอยู่ที่ศรีลังกา FB : Voice For Elephants Sri Lanka

พลายศักดิ์สุรินทร์ขณะอยู่ที่ศรีลังกา FB : Voice For Elephants Sri Lanka

นอกจากนี้ จากการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ สารานุกรมช้างในศรีลังกา  พบรายชื่อช้างไทยเพียง 2 เชือกที่ระบุที่มาจากประเทศไทยคือ "Muthu Raja Hasthia" หรือ พลายศักดิ์สุรินทร์ และ "Thai Raja" อยู่ในความดูแลของวัด Kandy Sri Dalada Maligawa ซึ่งเชือกนี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็น พลายประตูผา หรือ พลายศรีณรงค์ หรือมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นช้างไทยเชือกอื่น  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง