ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปธ.ทีดีอาร์ไอชี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ส่งผลกระทบ “ทุนพวกพ้อง”

เศรษฐกิจ
25 พ.ค. 66
16:34
553
Logo Thai PBS
ปธ.ทีดีอาร์ไอชี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ส่งผลกระทบ “ทุนพวกพ้อง”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ทีดีอาร์ไอ” เผยการเมืองวุ่น ตั้งรัฐบาลช้า-หุ้นกลุ่มทุนสาขาเอื้อพวกพ้องตกต่อเนื่อง แนะรัฐบาลใหม่ใหม่จับตา 5 โครงการสำคัญ แก้ปัญหาทุนผูกขาด ชี้ทำไม่ง่ายต้องคุมไม่ให้เกิดเพิ่ม

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ในรายการคิดยกกำลัง 2 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยระบุว่า หลังพรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งมีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 คงบอกอะไรได้หลายอย่าง แม้ปกติตลาดหุ้นจะไม่ได้ผูกโยงกับเศรษฐกิจมากนัก แต่หุ้นยังตกต่อเนื่อง คงบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น ตั้งรัฐบาลได้ช้า เป็นห่วงว่าการเมืองจะวุ่น เพราะมีเสียงต่อต้านจากบางฝ่าย โดยเฉพาะในวุฒิสภา หรือบางคนอาจจะเป็นห่วงเรื่องค่าแรงพุ่ง

หุ้นตกรับ รบ.ใหม่ เศรษฐกิจไทยผูกการเมือง

ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ราคาหุ้นตกไปโดยเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์กว่าๆ แต่มีหุ้นบางตัวตกไกล ไหลไปมากกว่านั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดการจัดการของรัฐบาลใหม่ ต่อกลุ่มบริษัทบางบริษัทที่ทำมาหากินกับรัฐบาล เช่น หุ้นก่อสร้างของชิโนไทย ไหลรวดไป 13% หุ้นไฟฟ้า โทรคมนาคม อย่าง กัลฟ์ หรือ ทรู ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ เช่น เอสซี แอสเซส ก็ตกมากกว่าตลาดทั่วไป

          “สะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยผูกพันกับการเมือง หากเปรียบเทียบไทยกับหลายประเทศ บรรดาอภิมหาเศรษฐีของไทยกับประเทศต่างๆ ในที่นี้หมายถึง คนที่รวยเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือเป็นบิลเลียนแนร์ขึ้นไป มีทรัพย์สินอยู่ในธุรกิจที่ถูกเรียกว่า เป็นสาขาที่เสี่ยงต่อการเอื้อพวกพ้อง หรือสาขาทั่วไปอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเอื้อพวกพ้อง ปรากฎว่าไทยอยู่อันดับที่ 15 ของระดับโลก” นายสมเกียรติ กล่าว

กลุ่มทุนพวกพ้องกุมโครงสร้างเศรษฐกิจ

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศที่ไปไกลที่สุด คือ รัสเซีย เพราะทำมาหากินอยู่กับน้ำมัน และบรรดาเศรษฐีของรัสเซียก็ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่พอใจก็อยู่ไม่ได้ นี่คือลักษณะของทุนพวกพ้อง ซึ่งก็แปลว่าประเทศไทยมีภาพแบบนี้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินของเศรษฐีที่ถูกจัดว่า เป็นกลุ่มทุนพวกพ้องอยู่ประมาณ 2% ของจีดีพี หรืออันดับที่ 16 ของโลก

ปัจจุบันขยับมาเป็นอันดับ 15 อาจจะดูเหมือนไม่ขยับเท่าไหร่ แต่สัดส่วนทรัพย์สินพวกพ้องสูงขึ้นเกินกว่า เท่าหนึ่งหรือเกือบๆ 5% ของจีดีพี ซึ่งมีข้อสังเกตอย่างสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มทุนพวกพ้องที่เป็นระดับอภิมหาเศรษฐี หากทำมาหากินตามปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป คงไม่สามารถร่ำรวยได้ขนาดนี้ แต่การเป็นอภิมหาเศรษฐี แปลว่า ต้องมีกำไรเกินปกติ และตามตำราวิธีทำมาหากินได้กำไรเกินปกติ นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า ได้ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

          “คำว่า ค่าเช่าทางเศรษฐกิจฟังแล้วประชาชนคง งง ค่าเช่าที่ว่านี้ คือ กำไรเกินปกติ ซึ่งอภิมหาเศรษฐี จะมีรายได้ต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานแล้วได้เงินเดือน แต่เขาจะมีรายได้จากทรัพย์สิน 7 อย่าง เช่น การปล่อยเงินกู้ สัญญาภาครัฐ สัปทานต่างๆ รายได้จากโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า โทรคมนาคม ซึ่งก็เกี่ยวกับรัฐ หรือที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เหมืองแร่ น้ำมัน ทรัพย์สินทางปัญญาและแพลตฟอร์มใหม่ๆ” นายสมเกียรติ กล่าว

เขาย้ำว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ กลุ่มทุนพวกพ้องก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะพรรคก้าวไกลหาเสียงว่าประเทศจะเปลี่ยนไป แง่มุมหนึ่ง หากพ้นจากทุนพวกพ้อง แปลว่า ธุรกิจใหญ่ จะมีบทบาทกำหนดเศรษฐกิจลดลง ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีบทบาทมากขึ้น ก็คาดว่านวัตกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้น

ประธานสถาบันทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาการทำธุรกิจของไทย ทุกวันนี้หลายคนอยากทำ START UP แต่ถ้าไปคุยกับกลุ่ม START UP หลายคนพบว่า มีโอกาสโตยาก หากจะโตต้องขายกิจการให้บริษัทขนาดใหญ่ ไม่สามารถไปโตได้เอง จากการทำ IPO หรือไปขายหุ้นในตลาดหุ้น หรือธุรกิจบางอย่าง เช่น คราฟเบียร์ หรือธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อยากพัฒนา แต่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่คือ ต้องปรับเศรษฐกิจไทยไปให้ไกล และไม่เอื้อให้ทุนพวกพ้อง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลและบางพรรคการเมืองได้หาเสียง โดยระบุว่า จะกำจัดกลุ่มทุนผูกขาด ถือเป็นโจทย์ใหญ่และอยากให้ดำเนินการ แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย ประเด็นสำคัญที่ง่ายกว่าคือ อย่าให้เกิดเพิ่มขึ้นอีก ถ้าจะจับตามองดูรัฐบาลชุดใหม่จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่อาจจะเสี่ยงต่อทุนพวกพ้อง โดยยังไม่ต้องดูหน้าตารัฐบาล เพราะทุนพวกนี้เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ย่อมอยากพยายามมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐอยู่แล้ว

แนะ รบ.ใหม่จับตา 5 โครงการแก้ปัญหาทุนผูกขาด

สำหรับเรื่องที่อยากให้รัฐบาลใหม่จับตาดูมี 5 เรื่องคือ การประมูลก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ที่ยังมีอยู่ ซึ่งต้องทำให้โปร่งใส เกิดการแข่งขันมากที่สุด เรื่องการซื้อขายไฟฟ้าที่ต้องมีการผลิตเพิ่ม แม้ว่าไฟฟ้าในประเทศมีสำรองเกินกว่าระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ต้องทำพลังงานทางเลือกเพิ่ม เรื่องการเจรจาสัมปทาน โดยเฉพาะเกี่ยวกับการขนส่ง สนามบิน รถไฟความเร็วสูง การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ และการควบรวมธุรกิจต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการผูกขาดเพิ่มขึ้น

อย่างน้อยรัฐบาลใหม่จะต้องไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงจากเดิม ก่อนที่จะไปแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วในอดีต

นายสมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า การหาเสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองบางพรรคได้ใจประชาชนหลายเรื่อง จึงหวังว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลต้องช่วยกันเปลี่ยนระบบรัฐไทย ไปให้ไกลจากทุนพวกพ้อง ลดการผูกขาด เพิ่มความโปร่งใส ไม่ใช้ดุลยพินิจไปเอื้อ แต่เรื่องนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากให้พรรคการเมืองผลักดันฝ่ายเดียว แต่ประชาชนต้องช่วยรวมพลังยับยั้งทุนพวกพ้อง

นายสมเกียรติ ยังระบุอีกว่า ที่สำคัญ ค่านิยมนับถือเศรษฐีของเมืองไทยฝังรากลึกพอสมควร ประชาชนควรตั้งคำถาม อย่าไปอวย หรือนับถือเศรษฐี โดยไม่ได้ดูที่มาของความรวยว่า รวยจากการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ หรือรวยจากการได้กำไรสูงเกินปกติจากลักษณะทุนพวกพ้อง และควรหลีกเลี่ยงการอุดหนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด ไม่ซื้อสินค้า บริการของบางเจ้าที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา และที่สำคัญถ้าธุรกิจขนาดเล็กถูกทุนใหญ่รังแก ก็ควรรวมตัวกันส่งเสียงร้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุกลาม เพื่อยับยั้งทุนพวกพ้อง

อ่านข่าวอื่นๆ

"สุพันธ์ุ" เชื่อโหวต "พิธา" ผ่าน-ตั้ง รบ. ได้ ตลาดทุนสดใสแน่นอน

"กสิกร" เผยนักลงทุนเทขายตราสารหนี้ เหตุกังวลตั้งรัฐบาลช้า

รพ.เอกชน หวังรัฐบาลใหม่ดันไทยสู่ Medical Hub ดึงเงินเข้าประเทศ

"ส.อ.ท." เสนอ 5 ประเด็นเร่งด่วน หลังร่วมแลกเปลี่ยน "พิธา" กว่า 2 ชม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง