ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 มีคดีเกี่ยวกับการจับหรือครอบครองลิงแสม 13 คดี ของกลางลิงแสม 335 ตัว เฉพาะในปี 2564 เกิดคดีขึ้นมากที่สุดถึง 5 คดี ลิงแสมของกลาง 161 ตัว ข้อมูลทั้งหมดนี้ไทยพีบีเอสรวบรวมจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.)
จากคดีที่เกิดขึ้นมีหลายเหตุการณ์ที่พบความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้กระทำผิดลักษณะทำเป็นกลุ่มเครือญาติและคนรู้จัก
คดีเมื่อ 17 เม.ย. 2566 หญิง 2 คน เด็กชาย 1 คน ร่วมกันลักลอบจับ “ลิงแสม” เหตุเกิดใกล้ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี จากแนวทางการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหาหญิง 1 ใน 2 คนมีความเชื่อมโยงกับผู้ต้องหาในคดีที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ก.ย. 2563 ที่ชายคนหนึ่งปล่อยลิงแสมกว่า 20 ตัว ที่เขาชะโอย หมู่ 10 ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี หลังจากจับลิงทั้งหมดเพื่อส่งขายประเทศกัมพูชาแต่ลิงไม่ได้ขนาดตามที่นายทุนต้องการ
มีข้อมูลว่าทั้ง 2 คน เคยจับลิงส่งขายให้กับคนที่ชื่อว่า “ลุงป็อก” ชาว จ.เพชรบูรณ์ ก่อนที่ผู้ต้องหาหญิงคนนี้จะแยกตัวมาจับลิงส่งขายเอง
คดีเมื่อ 27 พ.ค. 2564 ยึดลิงแสมของกลาง 102 ตัวบนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 3070 ต.ศรีมหาโพธิ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ผู้ว่าจ้างให้ไปขนลิงแสมมีความเกี่ยวข้องเป็นลูกชายของชายชื่อ “นที” ซึ่งเป็นเครือข่ายของคดีที่เกิดขึ้นที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563
คดีทั้ง 2 กลุ่มยังพบความเชื่อมโยงว่าส่งลิงไปประเทศเพื่อนบ้านผ่าน “หญิงชาวกัมพูชา” คนเดียวกัน ซึ่งหญิงคนนี้เป็นเครือญาติกับคดีเมื่อ วันที่ 6 ก.พ. 2565 ที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมฟาร์มเพาะพันธุ์ลิงแห่งหนึ่งในพื้นที่ บ.ยางห้าหลุม ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565
นายพลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและจัดการฐานข้อมูลอาชญากรรมสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ให้ข้อมูลว่าขบวนการค้าลิงแสมข้ามชาติ เกิดขึ้นมาแล้วหลายคดีในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นคสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และทางภาคอีสาน มีผู้ต้องหาถูกจับดำเนินคดีกว่า 50 คน
คดีลิงแสมที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อมูล คาดว่าเป็นการนำลิงส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อเป็นสัตว์ทดลอง เดิมมีการลักลอบค้าลิงแสมจะส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา แต่หลังจากผู้บริหารของประเทศกัมพูชาที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องไซเตสถูกจับที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ขบวนการค้าลิงเปลี่ยนเส้นทางไปทางชายแดนทางประเทศลาวแทน แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องช่องทางลักลอบส่งออกที่ชัดเจน
“กลุ่มพวกนี้เป็นกลุ่มที่ค้าสัตว์เลื้อยคลานเก่า ไม่ว่าจะเป็นค้างูเหลือม ตัวเงินตัวทอง อันไหนราคาดีก็ทำ เขาก็จะถึงกันหมด แบ่งเป็นกลุ่มพวกจับ ผู้ประสานงาน ขนส่ง รับซื้อ และกลุ่มนายทุน”
นายพลวีร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของขบวนการนี้เพื่อสาวไปให้ถึงนายทุนที่แท้จริงเพราะการดำเนินคดีต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนหญิงชาวกัมพูชาที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าลิง หญิงคนนี้อาจจะเกี่ยวข้องในการออกค่าใช้จ่ายเป็นระดับนายทุน แต่ไม่ใช่นายทุนใหญ่
“ถ้าจะให้ถึงตัวการใหญ่จริง ๆ ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศปลายทางที่รับลิงจากประเทศต่าง ๆ ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน”
นายเอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า อ้างถึงรายงานของ The Species survival network ที่ระบุว่าในช่วงปี 2561 ถึง 2562 ประเทศกัมพูชาส่งออกลิงมีชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 9,610 ตัว เป็น 17,422 ตัว จนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แทนที่จีน ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ศูนย์เพาะพันธุ์ในกัมพูชาจะสามารถเพิ่มการผลิตลิงแสมเป็นสองเท่าภายใน 1 ปี
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ นำไปสู่การสืบสวนจับกุมรอง ผอ.กรมสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี ระหว่างเดินทางไปประชุม ไซเตส ที่ประเทศปานามา
ตัวเขาและพวก 6 คน ถูกตั้งข้อหาว่าพัวพันกับการลักลอบนำเข้าลิงแสมส่งไปยังสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ในรัฐฟลอริดา และ รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 ถึง กันยายน 2565
มีข้อมูลว่าในช่วงปี 2562-2563 การวิจัยทางการแพทย์เพื่อคิดค้นยาและวัคซีนต้านการระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการลิงแสมเพิ่มสูงขึ้นมาก จากเดิมลิงแสมมีราคาอยู่ที่ตัวละ 2,800-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 20,000-24,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขั้น 4-5 เท่า