ผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการที่ออกมาเมื่อเช้าวันนี้ (15 พ.ค.2566) เกิดปรากฏการณ์ “พรรคก้าวไกล” ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกเขต และจังหวัดใหญ่ๆ อีกหลายจังหวัด แบบแลนด์สไลด์ของจริง ทำให้พรรคก้าวไกล มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันแล้ว 151 คน
ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่กลุ่มที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังมีตัวแปรอื่น ๆ เข้ามาอีกเช่น ความต้องการเปลี่ยนแปลง, อยากให้มีการแก้ปัญหา, ต้องการให้เศรษฐกิจดีขึ้น ฯลฯ
ไทยพีบีเอสเคยนำเสนอข้อมูล ตัวเลขคนไทยแต่ละเจเนอเรชัน ที่ตัวแปรสำคัญเลือกตั้ง 2566 ไว้
เผยตัวเลขคนไทยแต่ละเจเนอเรชัน ตัวแปรสำคัญเลือกตั้ง 2566 ระบุว่า
มีคนกลุ่ม Generation Z : คือผู้ที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 11-26 ปี นับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 18-26 ปี จำนวน 7,670,354 คน
Generation Y : ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 หรืออายุ 27-42 ปี จำนวน 15,144,468 คน
Generation X : ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 หรืออายุ 43-58 ปี จำนวน 16,091,150 คน
Baby Boomer : ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 หรืออายุ 59-77 ปี จำนวน 11,153,133 คน
Silent Gen : ผู้ที่เกิดปี 2468-2488 หรืออายุ 78-98 ปี จำนวน 2,227,540 คน
และ ผู้ที่มีอายุ 99-100 ปีขึ้นปี จำนวน 36,179 คน
ขณะที่เช้าวันนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง แถลงว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39,293,867 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 75.22 ถือว่าสูงสุดเท่าที่ กกต.จัดเลือกตั้งมาเป็นครั้งที่ 7
ซึ่งจากปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิ์ร้อยละ 74.87 ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี สะท้อนความตั้งใจที่ประชาชนมีส่วนร่วมการเมือง และทำให้การเลือกตั้งมีความหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้ กกต.จะไม่ได้แยกว่า มีคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน Generation Z ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 18-26 ปี จำนวน 7,670,354 คน มาใช้สิทธิเท่าไหร่ แต่ผลที่ออกมาย่อมสะท้อนได้อย่างชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ยังไม่นับคนกลุ่ม Generation Y ที่อย่างน้อยเรียนจบการศึกษาชั้น ม.6 ถึง ปริญญาตรี อยู่ในวัยทำงาน สร้างครอบครัว และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เศรษฐกิจสังคมดีขึ้น
และอีกกลุ่มที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่อายุมากแล้ว เป็นคนตกยุคสมัย อนุรักษ์นิยม หรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง คือคนกลุ่ม Generation X และ Baby Boomer
แต่อาจมีคนส่วนหนึ่งในกลุ่มนั้น ที่เห็นการเมืองไทยมามาก และอาจเบื่อหน่ายกับการหาเสียงแบบเก่าๆ คำสัญญาลมลวงของนักการเมืองเก่าๆ ฯลฯ และทุกอย่างก็เหมือนเดิม อาจจะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่แลนด์สไลด์ แต่เป็น “ปรากฏการณ์สีส้ม” ขึ้นมาแทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลการเลือกตั้ง2566 : กกต.นับคะแนนไม่ทางการ "ก้าวไกล" ขี่คอ "เพื่อไทย" 112 ที่นั่ง
ผลการเลือกตั้ง2566: เริ่มวันนี้ ใครไม่ได้ไป "เลือกตั้ง66" แจ้งเหตุผลไม่ไปใช้สิทธิ
เลือกตั้ง2566: "พิธา" ประกาศตั้งรัฐบาลรอแถลงเที่ยงนี้-ทวีตพร้อมนั่งนายกฯคนที่ 30