ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคประชาสังคมเชื่อไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง

เศรษฐกิจ
11 พ.ค. 66
12:20
1,100
Logo Thai PBS
ภาคประชาสังคมเชื่อไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"การสำรองไฟฟ้า" ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แต่การสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบ ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐจัดหา แม้ไม่ได้มีการใช้งานจริง ซึ่งนักวิชาการและภาคประชาสังคมหลายคนเชื่อว่าไฟฟ้าสำรองที่ล้นระบบ เป็นต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง

วันนี้ (11 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงไฟฟ้าสำรองล้นระบบกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาคือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 40-60 ทั้งที่มีการศึกษาว่าตัวเลขเหมาะสมคือ ร้อยละ 15 เมื่อมีไฟฟ้าสำรองส่วนเกิน ภาระส่วนนี้จะถูกนำไปบวกในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน

ภาระอีกทอดที่ผู้บริโภคไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดชอบ คือ "ค่าความพร้อมจ่าย" ซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินค่าดำเนินงานให้โรงไฟฟ้าเอกชนตามสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว แม้จะไม่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในเดือนนั้น โดยสาเหตุที่ทำสัญญาลักษณะนี้ก็เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้า และลดการก่อหนี้โดยภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าต่อปีหลักหมื่นล้านบาท

ในงานสัมมนา "ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ" นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยอีกต่อไป เพราะมีสัดส่วนการผลิตเพียงร้อยละ 34-35 เท่านั้น

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

ขณะนี้กลายเป็นว่าภาครัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน แล้วนำมาขายให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อนจะขายให้ประชาชน ขณะที่ระบบสัญญาการรับซื้อและผลิตไฟฟ้ากระจุกตัวอยู่ที่ กฟผ. แต่ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำอันดับแรกหลังจากนี้คือกำหนดเพดานรับซื้อไฟจากเอกชน

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว รัฐต้องทบทวนสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าหรือยุติการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่ รวมถึงต้องสนับสนุนการนำเทคโนโลยีโซลาเซลล์มาใช้ เพื่อทำให้ประชาชนมีอำนาจต่อรอง เปลี่ยนจากสถานะผู้บริโภคมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า สำหรับนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ส่วนตัวมองว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะนโยบายมีความชัดเจน จับต้องได้

ขณะที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การใช้พลังงานทางเลือกเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีตัวอย่างมากมาย แต่นโยบายของไทยในช่วงที่ผ่านมากลับไม่ปรับตัวตาม ทั้งที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม

ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ.

ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ.

ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ.

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้กระทบเพียงครัวเรือนและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่จะทำให้ภาพรวมของประเทศไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาชาติได้

อ่านข่าวอื่นๆ

ยอดร้องเรียนค่าไฟฟ้าแพงพุ่ง 142 ราย

บอร์ด กกพ.เคาะลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.เหลือ 4.70 บาท/หน่วย

สนพ.คาดค่าไฟ ก.ย.-ธ.ค. เหลือหน่วยละ 4.30-4.40 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง