ข้อมูลเก่าจาก "จู้หรง" (Zhurong) รถสำรวจดาวอังคารของจีน ที่ได้ขาดการติดต่อไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2022 นั้น ได้เปิดเผยหลักฐานของร่องรอยน้ำเค็มในอดีต ณ บริเวณยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดยักษ์ทางซีกเหนือของดาวอังคาร ไม่ไกลจากเส้นศูนย์สูตรมากนัก ซึ่งร่องรอยนี้มีอายุเพียงแค่ประมาณ 400,000 ปีที่แล้วเท่านั้น
โดยงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์จีนชิ้นนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Science Advances ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 ซึ่งได้มีการระบุเพิ่มเติมว่า ร่องรอยน้ำเค็มที่ปรากฏนั้น อาจถือกำเนิดขึ้นมาจากการละลายตัวของหิมะในฤดูร้อนในอดีต ก่อนที่น้ำจะมาผสมกับเกลือบนพื้นผิวกลายเป็นน้ำเค็ม จนทำให้พื้นดินแข็ง ๆ ด้านล่างแตกออก และเหลือไว้เพียงร่องรอยเป็นสันบนเนินทรายที่ในที่สุด
อ่านเพิ่มเติม ชมชัด ๆ จีนเผยชุดภาพสีดาวอังคารทั้งดวง ครั้งแรก !
แต่ทว่าก็พอมีความเป็นไปได้เช่นกัน ว่าร่องรอยนี้อาจเกิดจากลม และน้ำค้างแข็งที่เกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่จะเป็นน้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จีนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้มากนัก เนื่องจากในบริเวณนี้มีผลึกเกลือค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนได้เป็นอย่างดี
ทั้งการประเมินร่องรอยบนเนินทรายนี้ ยังระบุว่ามีอายุราว 400,000 ถึง 1,400,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่บนโลกยอมรับว่าดาวอังคารได้สูญเสียน้ำในรูปสถานะของเหลวไปจนเกือบหมดแล้ว หากน้ำไม่กลายเป็นไอน้ำในอากาศก็จะมาควบแน่นรวมตัวกันเป็นน้ำแข็งบริเวณขั้วดาว
เพราะฉะนั้นร่องรอยของน้ำเค็มบนเนินทรายนี้อาจมีต้นตอมาจากน้ำแข็งขั้วดาวที่ระเหิดออกไปในชั้นบรรยากาศ ก่อนที่ควบแน่นและกลั่นตัวกลายเป็นน้ำในบริเวณเส้นศูนย์สูตรเมื่อมีอุณหภูมิเหมาะสม ซึ่งหากปราศจากเกลือในแถบที่รถสำรวจจู้หรงพบเจอแล้ว น้ำบริสุทธิ์ก็จะไม่สามารถต้านทานอุณหภูมิที่หนาวเย็นของดาวอังคารและกัดเซาะพื้นดินบริเวณนี้ได้
การค้นพบในครั้งนี้ จึงช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดาวอังคารในยุคหลัง ๆ ได้ดีกว่าเดิม ว่าถึงแม้ซึ่งดาวอังคารจะสูญเสียน้ำและมหาสมุทรไปนานแล้ว น้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูงก็ยังอาจเล็ดลอดมาได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากมีน้ำแล้วก็อาจมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเช่นกัน
ที่มาข้อมูล: Science Advances
ที่มาภาพ: CNSA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech