ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอยง" ชี้โควิดไม่ได้หายไป เป็นโรคประจำฤดูกาล เตือน 30% เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ

สังคม
2 พ.ค. 66
19:24
1,157
Logo Thai PBS
"หมอยง" ชี้โควิดไม่ได้หายไป เป็นโรคประจำฤดูกาล เตือน 30% เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอยง" เผย โควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังอยู่กับเราในรูปของโรคประจำฤดูกาล เหมือนกับโรคทางเดินหายใจอื่น ขณะนี้สายพันธุ์โควิดที่ระบาดในไทยยังเป็นลูกหลานของโอมิครอน พบเกือบทั้งหมดเป็น XBB โดยเฉพาะ XBB.1.5 ประมาณ 80% เตือน 30% เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ

กรมควบคุมโรค รายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ 17 ระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย.นี้ ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,811 คน เฉลี่ยรายวัน 258 คนต่อวัน รวมตัวเลขสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 8,382 คน ผู้เสียชีวิต 10 คน เฉลี่ยวันละ 1 คน เสียชีวิตสะสม 288 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 157 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 79 คน

วันนี้ (2 พ.ค.2566) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ว่า โควิด-19 ไม่ได้หายไป แต่ยังคงอยู่ในลักษณะโรคประจำฤดูกาล เหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ มักระบาดสูงสุดช่วงฤดูฝน หรือช่วงเปิดเทอมแรก คนเคยติดเชื้อแล้วติดซ้ำได้ กลุ่ม 608 เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ชี้การฉีดวัคซีนประจำปีทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่จำเป็น

โควิด-19 ไม่ได้หายไป เป็นโรคประจำฤดูกาล

โควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงอยู่ในลักษณะโรคประจำฤดูกาล เหมือนกับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี ไรโนไวรัส อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับระยะแรกที่โรคมีความรุนแรง ขณะนี้ลดลงไปถึง 95% คาดว่าน่าจะน้อยกว่า 0.1% ซึ่งใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่

การระบาดของโรคทางเดินหายใจในประเทศไทย อย่างไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี ไรโนไวรัส มักเกิดในฤดูฝนโดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนเทอมแรก ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. ความจริงแล้วโรคดังกล่าวพบได้ทั้งปี แต่จะพบสูงสุดในช่วงฤดูฝน

ลักษณะการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล หากเคยเป็นแล้วก็เป็นได้อีก ยกตัวอย่างคนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ว่าช่วยลดความรุนแรงของโรคลง เช่นเดียวกับโควิด-19 หากเคยติดเชื้อแล้วก็ติดซ้ำได้

ขณะนี้โควิด-19 จึงมีลักษณะไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ แต่กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่ม 608 รวมทั้งเด็กเล็ก เพราะหากป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมีโอกาสจะป่วยรุนแรง เชื้อลงปอด หรือปอดบวมได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนประจำปีทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังคงจำเป็น

จากการศึกษาพบว่า คนไทยเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วเกือบ 80 % และเมื่อเข้าฤดูกาลใหม่ คนที่เคยติดเชื้อแล้วก็ติดซ้ำได้ คาดว่า 30 % จะพบในคนที่เคยติดเชื้อ อีกส่วนจะพบในคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อเลย

นพ.ยง กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โควิด-19 ได้เปลี่ยนไปแล้ว จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง แล้วก็เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล ส่วนการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์

แต่ขณะนี้สายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย ยังเป็นลูกหลานของโอมิครอน สายพันธุ์ที่พบเกือบทั้งหมดเป็น XBB โดยเฉพาะ XBB.1.5 ประมาณ 80 % ซึ่งเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ BA.2.75 ซึ่งความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่หลบหลีกภูมิต้านทาน ติดเชื้อง่ายขึ้น ติดเชื้อซ้ำได้

ระยะเวลาอันใกล้นี้เชื่อว่าองค์การอนามัยโลก จะเลิกนับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อ เพราะตัวเลขที่รายงานเข้าสู่องค์การอนามัยโลก ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก รวมทั้งของประเทศไทยก็ไม่ได้นับจำนวนผู้ที่ติดเชื้อแล้ว นับเฉพาะผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต

สธ.ออกคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19

  • ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 เข็ม
  • ฉีดตั้งแต่เดือนเมษายน ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน
  • ฉีดห่างจากเข็มสุดท้าย หรือการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน
  • ฉีดพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง
  • หากฉีดไม่พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะห่างกี่วันก็ได้
  • กลุ่ม 608 ควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี

จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี ใน กทม.-ต่างจังหวัด

  • สถาบันโรคผิวหนัง
  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
  •  สถาบันบำราศนราดูร
  • สถาบันประสาทวิทยา
  • สถาบันโรคทรวงอก
  •  สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
  • สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ
  • สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
  • ศูนย์การแพทย์บางรัก
  • รพ.ราชวิถี
  • รพ.สงฆ์
  • รพ.เลิดสิน
  • รพ.นพรัตนราชธานี
  • รพ.กลาง
  • รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
  • รพ.เวชการุณย์รัศมิ์
  • รพ.ราชพิพัฒน์
  • รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน
  • รพ.บางนา
  • รพ.สิรินธร
  • รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
  • รพ.ลาดกระบัง
  • รพ.ตากสิน
  • รพ.คลองสามวา
  • รพ.วชิรพยาบาล
  • รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี
  • รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
  • รพ.มะเร็งชลบุรี
  • รพ.มะเร็งลพบุรี
  • รพ.มะเร็งอุดรธานี
  • รพ.มะเร็งอุบลราชธานี
  • รพ.ประสาทเชียงใหม่
  • รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น
  • รพ.โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง
  • รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คัมแบ็ก! ยอดติดโควิดสัปดาห์เดียวพุ่ง 2 เท่า 1,811 คน

พบอีก 6 คนโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 สะสม 34 คน

ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี เริ่ม 1 พ.ค. 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง