วันนี้ (2 พ.ค. 2566) นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรค แถลงข่าวหัวข้อ "รับมือความเสี่ยงพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ ความท้าทายเร่งด่วนของรัฐบาลหน้า"
จากกรณีสถาบันทางเศรษฐกิจทุกแห่งทั่วโลกต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังชะลอตัวและมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากปัจจัยความเสี่ยงและความท้าทายรอบด้านที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและอาจจะรุนแรงมากขึ้น
จนกลายเป็นพายุเศรษฐกิจขั้นสมบูรณ์แบบ หรือ Perfect Economic Storm ดังนั้นทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ จึงส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลหน้า ก้าวข้ามความขัดแย้ง ผลึกกำลัง ร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าพายุเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้นโดยเสนอ 3 ภารกิจ 7 ขับเคลื่อน ที่รัฐบาลหน้าต้องเร่งทำทันที เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้พลิกฟื้น กระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ พร้อมกับการพลิกโฉมประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
นายธีระชัย ได้ฉายภาพที่แสดงให้เห็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกว่า จากเดิมเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนด้วยปัจจัย "3 ราคาต่ำ" คือ 1."ดอกเบี้ยต่ำ" 2."ราคาสินค้าจากจีนต่ำ" และ 3."ราคาพลังงานต่ำ"
แต่ปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเป็น "3 ราคาแพง" แล้ว และเป็นความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่พายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบในประเทศตะวันตก และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในที่สุด
หลายประเทศใช้นโยบายการคลังควบคู่กับนโยบายการเงินอย่างเต็มที่ในช่วงวิกฤติโควิด ที่เรียกว่า เป็นปืนบาซูก้าลำกล้องแฝดนั้น ได้นำไปสู่เงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารชาติสหรัฐและยุโรปต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้เงินเฟ้อ
แต่การขึ้นดอกเบี้ยที่แรงและเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อนดังกล่าว ทำให้ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในระบบธนาคารสหรัฐและยุโรปเริ่มปรากฏขึ้น และมีแนวโน้มจะลุกลามต่อไป ดังนั้น ทุกหน่วยงานในประเทศไทยจึงควรคำนึงและเตรียมพร้อมรับมือพายุนี้
นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังเสนอแนะให้มีการเตรียมพร้อม โดยรัฐมนตรีคลังควรมีการประชุมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมฯ และหอการค้าต่างๆ สม่ำเสมอทุกไตรมาส เพื่อติดตามสถานการณ์ของโลกและเงินทุนไหลเข้าออก
นอกจากนี้ จะต้องมีแนวทางแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก ซึ่งทีมเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ จะมานำเสนอแถลงข่าวต่อไป
ด้านนายอุตตม กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐได้จัดทำแผนนำประเทศไทยผ่านพ้นพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ภารกิจ 7 ขับเคลื่อน โดย 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย
1.กระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นจริงทันที
2.เร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีพลัง เต็มศักยภาพ
3.เร่งรัดสร้างรากฐานการพัฒนา พลิกโฉมประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง
ส่วน 7 ขับเคลื่อน ประกอบด้วย
1.สร้างสวัสดิการประชาชน พัฒนาคนไทยก้าวทันโลก โดยการขยายต่อยอดโครงการประชารัฐ ผ่านโครงการเติมทักษะที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายศูนย์ประชารัฐพัฒนา ควบคู่การเติมทุน 30,000 บาท ต่อ 1 ผู้ถือบัตรประชารัฐ
รวมถึงปรับเพิ่มสวัสดิการดูแลคนไทยทุกช่วงวัย โดยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ ให้กับประชาชนคนไทย
2.เร่งรัดแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และต้นทุนผู้ประกอบการที่พุ่งสูงขั้น โดยปฏิรูปโครงสร้างพลังงานของประเทศทันที คืนความยุติธรรมด้านราคาให้ประชาชน ผลักดันไฟฟ้าภาคประชาชน การปลดภาระหนี้สินครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ
ปรับโครงสร้างหนี้พร้อมเติมทุนใหม่ โดยสถาบันการเงินรัฐเป็นผู้นำการจัดหาทุนใหม่ให้ผู้ประกอบการ SME เช่น สินเชื่อผ่อนปรน/ดอกเบี้ยตํ่า โดยมี บสย.คํ้าประกันพิเศษ รวมถึงการใช้กลไกกองทุนประชารัฐร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ
3.สร้างเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนเข้มแข็ง ยกระดับเกษตรมั่งคั่ง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการผลิตชุมชน โดยจัดทุนให้เกษตรกรครัวเรือนละ 30,000 บาท เพื่อช่วยค่าใช้จ่าย เป็นทุนการผลิต และจัดหาเทคโนโลยีการเกษตร
ด้านการท่องเที่ยว มีมาตรการจัดหาสินเชื่อผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการเพื่อใช้ซ่อมสร้างสถานที่ประกอบการครบวงจร รวมถึงการเติมเงินให้กองทุนหมู่บ้าน 200,000 บาท เพื่อใช้ลงทุนโครงสร้างพัฒนาในพื้นที่ สร้างงาน เสริมรายได้ ให้คนในชุมชน
4.ผลักดันการลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Projects) อาทิ การฟื้น EEC ให้เดินหน้าเต็มศักยภาพ พร้อมพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ทุกภูมิภาค เช่น โครงการอีสานประชารัฐ กระจายความเจริญ และความมั่งคั่งสู่พี่น้องชาวอีสาน
การสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ 6 โครงการ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ การเร่งสร้าง "รถไฟไทย-จีน" ให้เสร็จสมบูรณ์ การเติมเต็มโครงข่ายดิจิทัล 5G เข้าถึงทุกหมู่บ้าน ขยายต่อยอดพร้อมเพย์ แอปเป๋าตัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
5.เร่งลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (National Champions) ยึดโยงโจทย์ระดับโลกกับจุดแข็งของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรม BCG อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ต้องสร้างระบบนิเวศน์เกื้อหนุนการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาทักษะคนไทย เช่น จัดตั้งโครงการแซนด์บ็อกซ์ระดับชาติ (NATIONAL SANDBOX COMMITTEE) การสนับสนุน BOI ออกมาตรการใหม่ให้ดึงดูดเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่แค่เงินลงทุน
6.เร่งขยายฐานรายได้ของประเทศ ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ อาทิ การปรับโครงสร้างและขยายฐานภาษีเดิม การพิจารณาภาษีใหม่ เช่นภาษีคาร์บอน/มลพิษ ปรับวิธีจัดเก็บภาษีธุรกรรมออนไลน์จากต่างประเทศให้มีประสิทธิผล เน้นการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG DATA ANALYTIC) รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี BLOCKCHAIN และ AI
7.เร่งสร้างระบบเตือนภัย ป้องกันและจัดการพายุเศรษฐกิจจากภายนอก โดยจัดตั้งกลไกความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นทางการสม่ำเสมอ ระหว่างหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สมาพันธ์ SME ไทย เป็นต้น โดยกลไกที่ตั้งขึ้นดังกล่าวจะทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ปัญหาในทันทีที่เกิดความไม่ปกติทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
นายอุตตม กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ปัจจุบันจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่ม แต่ไม่ควรวางใจและฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยวและการส่งออกซึ่งก็มีสัญญาณชะลอตัวแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะในภาวะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
รัฐบาลหน้าจะต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่มีเวลามาลองผิดลองถูก ต้องเตรียมพร้อมแผนรับมือความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนได้ว่า สามารถจัดการดูแลหากผลกระทบจากภายนอกรุนแรงขึ้น
รวมทั้งผลักดันให้เศรษฐกิจไทยไม่ถดถอย แต่จะพลิกฟื้นรวดเร็วและขยายตัวได้ต่อเนื่อง สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุก ๆ คน