วันนี้ (2 พ.ค.2566) ตลอดแนวถนนสายหลักใน อ.ท่าใหม่ก่อนถึงแยกเนินสูง จ.จันทบุรี ช่วงเย็นไปจนถึงดึก มีจักรยานยนต์จอดรอหลายจุด อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะคอยส่งสัญญาณบีบแตรส่องไฟฉายให้สัญญาณรถขนทุเรียนที่วิ่งผ่านมาหยุดเพื่อขอซื้อทุเรียน
อ่านข่าว : เปิดท้ายขาย “ทุเรียน” ตกเกรด ทางเลือกผู้บริโภครายได้น้อย
หนึ่งในคนจับทุเรียน บอกว่า ทำอาชีพนี้มา 8 ปีแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กวิ่งจับทุเรียน จนวันนี้กลายมาเป็นเจ้าของล้งก็ยังต้องวิ่งจับทุเรียนไปด้วยเพราะการแข่งขันสูงการรอให้เกษตรกรนำผลผลิตมาขายที่ล้งเพียงอย่างเดียวอาจมีการเสนอซื้อตัดหน้า
เขาเล่าว่าหลังโควิด-19 มีคนทำอาชีพนี้เพิ่มขึ้นมาก มีล้งแผงค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น ราคาทุเรียนก็สูงขึ้นการจับทุเรียนก็ยากขึ้น
ขณะที่คนจับทุเรียนอีกคนบอกว่า การทำอาชีพนี้ไม่ได้ง่ายต้องมีประสบการณ์ดูทุเรียนเป็น ตัดสินใจไว ต้องมีเทคนิคเจรจาต่อรอง นอกจากนี้รถจักรยานยนต์ที่ใช้ก็ต้องเครื่องแรง ราคารถนั้นหลักแสนทีเดียว
ซึ่งคนที่จับทุเรียนส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นลูกจ้างของล้งหรือแผงทุเรียนเป็นหลักมีหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นบ้าง รายได้ที่จะได้รับอยู่ที่กิโลกรัมละ 1-2 บาท ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับล้ง เช่น หากจับทุเรียนได้ 1 ตัน ก็จะได้ 1,000 บาท
แต่หากเจรจาเก่งก็จะได้จากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ไม่นับรวมค่าจ้างรายวันอีกไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท รวมแล้วรายได้สูงถึง 30,000 - 40,000 บาทต่อเดือน รายได้ที่จูงใจทำให้หลายคนตัดสินใจทำอาชีพนี้
บริเวณแยกเนินสูง เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่มีการจับทุเรียนอย่างคึกคัก เพราะบริเวณนี้ มีล้งและแผงค้าทุเรียนจำนวนมาก
เมื่อรถทุเรียนชะลอเลี้ยวเข้าตลาด พวกเขาจะกรูกันไปที่รถ ใช้ไฟฉายส่องดูผลผลิตทุเรียนก่อนแข่งกันเสนอราคา ใครถึงก่อนก็จะเสนอราคาก่อน ถ้าราคาเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายก็พาไปที่ล้งถือว่าปิดการขาย
อาชีพคนจับทุเรียนที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลดีต่อชาวสวนทุเรียนในการตัดสินใจขายผลผลิต เมื่อการแข่งขันมีมาก ความต้องการที่สูงขึ้น ผลผลิตน้อย ทำให้ขายได้ราคาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :