ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัยทำงาน 42% "เครียด-อ้วนลงพุง" ขยับร่างกายน้อย-กินด่วน

สังคม
1 พ.ค. 66
13:22
917
Logo Thai PBS
วัยทำงาน 42% "เครียด-อ้วนลงพุง" ขยับร่างกายน้อย-กินด่วน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอนามัย เผยค่าเฉลี่ย BMI ของวัยทำงานอายุ 15 ปีเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พบเครียด อ้วนลงพุงถึง 42.4% เหตุทำงาน 40 ชม.ต่อสัปดาห์ ไม่ค่อยขยับร่างกาย กินอาหารจานด่วน แนะออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน

วันนี้ (1 พ.ค.2566) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2562-2563 พบว่าค่าเฉลี่ย BMI ของผู้ชายเท่ากับ 24.2 และผู้หญิงเท่ากับ 25.2 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์ปกติ

โดยผู้ชายร้อยละ 37.8 และผู้หญิง ร้อยละ 46.4 อยู่ในเกณฑ์อ้วน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชาย ร้อยละ 27.7 และผู้หญิง ร้อยละ 50.4 อ้วนลงพุง

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในภาวะเร่งรีบกลุ่มวัยทำงาน อาจเลือกกินอาหารจานด่วน ที่ไม่ถูกหลักทางโภชนาการ เนื่องจากต้องการอาหารที่ทำง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพกลุ่มวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.4 กินผัก และผลไม้ไม่เพียงพอตามข้อแนะนำ ร้อยละ 78.8 เพิ่มขึ้นจากจากการสำรวจครั้งที่ 5 ที่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอร้อยละ 74.1 รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอร้อยละ 30.7

แนะออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวันลดเสี่ยงโรค

ขณะที่ข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่าเกือบหนึ่งในสามของประชากรไทย มีน้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วน อ้วนลงพุง เนื่องจากใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ

รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งคนที่อ้วนลงพุง มักจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ทำให้เกิดเมตาบอลิกซินโดรม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมาก โดยพบว่าคนที่มีลักษณะท้วม มีโอกาสอ้วนลงพุงได้ถึงร้อยละ 25 ส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดี

การพบปะสังสรรค์ตามร้านบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง เพื่อคลายเครียด อาจส่งผลให้น้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคไต หากสังสรรค์ เพื่อผ่อนคลายความเครียด ควรกินอย่างมีสติ กินอย่างพอดี และเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์

นอกจากนี้ กลุ่มวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีกิจกรรม เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก โยคะ โดยใช้เวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน

และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง และหมั่นชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอว โดยเส้นรอบเอวต้องน้อยกว่าส่วนสูงหารสองเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน อ้วนลงพุง และโรคติดต่อไม่เรื้อรัง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ย้ำความสำคัญ "ผู้ใช้แรงงาน" ช่วยพัฒนาประเทศ

ค่าแรงคนจบใหม่ ใช้ชีวิตในกรุงฯ เท่าไหร่พอ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง